ทะลุคนทะลวงข่าว

นักวิชาการประวัติศาสตร์คนสำคัญ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ชี้ตรงไปตรงมา กรณี “หมุดคณะราษฎร” หรือหมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ ที่ถูกทำให้หายไป

สัญลักษณ์ที่ระลึกวันประวัติศาสตร์ 24 มิถุนายน 2475 เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ สู่ระบอบประชาธิปไตย จุดเริ่มต้นการมีรัฐธรรมนูญของประเทศสยาม

ยืนยันหมุดคณะราษฎรที่หายไปเป็นโบราณวัตถุแน่ มีมาตั้งแต่ปี 2479 เป็นสมบัติของราชการ กระทรวงมหาดไทยเป็นคนทำ และนายกรัฐมนตรีเป็นคนวางศิลาฤกษ์ เพราะฉะนั้นจึงเป็นโบราณวัตถุ

ทั้งว่าด้วยส่วนที่กรมศิลปากรบอกว่าไม่ใช่ เรื่องนี้กรมศิลปากรก็น่าสงสาร อาจจะไม่ได้เรียนประวัติศาสตร์

ทั้งๆ ที่คณะราษฎรเป็นผู้ก่อตั้งหน่วยงานนี้

ย้ำตีความเป็นโบราณวัตถุแน่ เป็นวัตถุประวัติศาสตร์แน่ เป็นของราชการแน่

เปรียบความแตกต่างจากการถอดหมุดยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ กับปรากฏการณ์ยุค คสช.ว่า ครั้งนี้เป็นการกระทำที่ประสบผลสำเร็จ คือสามารถถอดแล้วเอาหมุดใหม่มาปักได้ ขณะที่ในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ก็มีความพยายามที่จะถอดทิ้งทำลายหมุด แต่มีคนเอาไปเก็บไว้ แล้วเอากลับมาติดตั้งใหม่

สำหรับครั้งนี้ มีผลทำให้ความหมายจิตวิญญาณของหมุดอันนั้นมันฝังลึกลงในแผ่นดินยิ่งไปกว่าเดิมอีก เดิมอยู่ตรงผิวหน้าถนน ตอนนี้ฝังลึกลงไปในแผ่นดินแล้ว มันเข้าไปอยู่ในจิตใจของคน มันแปลว่า หมุดซึ่งเป็นวัตถุ กลายเป็นสัญลักษณ์ กลายเป็นจิตวิญญาณอะไรบางอย่างที่บอกความปรารถนา ความสนใจ ความต้องการที่จะรับรู้เรื่องเกี่ยวกับประชาธิปไตย

เมื่อว่าจะมีการตามไปถอนสัญลักษณ์อื่นๆ นอกจากหมุดของคณะราษฎรไหม

นักประวัติศาสตร์ชื่อดังตอบว่า ไม่แน่นะ คือตอนนี้เหมือนบ้านเมืองเรามันดูวิปริตอาเพศ

“เรื่องมันใหญ่ขนาดนี้ ผู้กุมอำนาจรัฐ ผู้มีบารมี ก็ต้องแสดงอะไรสักอย่างที่จะให้สถานการณ์ไม่อึมครึม ความโปร่งใส ความชัดเจน เป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับสังคมและประเทศชาติ”

รัฐศาสตรบัณฑิตสาขาการทูต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปริญญาโทการทูตจากออกซิเดนทอล คอลเลจ และปริญญาเอกประวัติศาสตร์อุษาคเนย์ มหาวิทยาลัยคอร์แนล สหรัฐอเมริกา

สอนวิชาประวัติศาสตร์ร่วม 4 ทศวรรษ

ได้รับแต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์พิเศษ สาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ ธรรม ศาสตร์ ทั้งเป็นผู้บริหารในหลายระดับ รวมถึงตำแหน่งอธิการบดี

ผลงานเป็นที่ยอมรับระดับนานาชาติในฐานะนักวิชาการประวัติศาสตร์

กล่าวด้วยว่า การปักหมุดคณะราษฎรเป็นเรื่องสำคัญมากของประวัติศาสตร์การเมืองไทย เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่แทบจะไม่เสียเลือดเนื้อ สะท้อนให้เห็นถึงความประนีประนอมของคณะราษฎรและกลุ่มอำนาจเก่าหรือคณะเจ้า

“การที่มีบุคคลถอดหมุดดังกล่าวออก ซึ่งคาดว่าต้องเป็นฝ่ายต่อต้านประชาธิปไตย เป็นนัยสำคัญของความไม่ต้องการประนี ประนอม ไม่ต้องการปรองดองและการปฏิรูป เหตุการณ์นี้จะเป็นสัญลักษณ์ที่อาจนำไปสู่ความรุนแรงได้ในอนาคต”

ส่วนที่ยืนยันมาจากกรมศิลปากร โดยอธิบดี อนันต์ ชูโชติ สวนมาพลัน ที่สังคมทวงถามความรับผิดชอบในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลโบราณสถาน โบราณวัตถุ สมบัติของชาติ คือ เรื่องหมุดคณะราษฎรไม่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานตน

ตามด้วยการโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ที่ทำให้อาการกรมศิลปากรอยู่ในขั้นตรีทูต ในสถานการณ์ร้อนนี้

โพสต์ว่า “หมุดคณะราษฎรมิใช่โบราณวัตถุตามนัยของ พ.ร.บ.โบราณสถานฯ เนื่องจากหมุดคณะราษฎรเป็นวัตถุที่พลเอกพระยาพหลพลหยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎร ได้นำมาติดตั้งไว้เมื่อปี พ.ศ. 2479 ซึ่งเป็นเวลา 4 ปี ภายหลังจากเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง

“ดังนั้นหมุดคณะราษฎรจึงมิใช่สังหา ริมทรัพย์ที่เป็นประโยชน์ในทางประวัติ ศาสตร์ เพราะหมุดดังกล่าวมีลักษณะเป็นเพียงเครื่องหมายระบุตำแหน่งที่เคยมี การประกาศแถลงการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองเท่านั้น”

ผลตามมาจึงขรมด้วยเสียงถามหาภาษีของประชาชนและการวิพากษ์วิจารณ์สถานหนักถึงภาระและหน้าที่ จนที่สุดต้องลบข้อความไปให้หลังโพสต์เพียงข้ามวัน

แต่อธิบดียังมาแรง ว่า ไม่ขอตอบเรื่องหมุด แต่มีเรื่องสมมติให้ฟังว่า

“เกิดสงคราม 9 ทัพที่ทุ่งลาดหญ้า ปัจจุบันอยู่ในกาญจนบุรี แต่มาวันหนึ่ง มีคนเขียนป้ายว่า ที่แห่งนี้คือสมรภูมิรบระหว่างทหารไทยกับกองทัพพม่าจนเรา ได้รับชัยชนะ โดยป้ายนี้เพิ่งมาเขียนหลังสงครามผ่านไป กี่ปีก็แล้วแต่ ถามว่าป้ายนี้เป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์เกี่ยวกับสงครามไหม อะไรเป็นข้อเท็จจริงอยู่แล้ว มันก็เป็นแบบนั้น จะเปลี่ยนยังไงก็ไม่ได้”

แล้วสรุปว่า “มันก็เป็นแค่ป้ายบอกเหตุการณ์ แต่ไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์”

วัย 59 ปริญญาตรีศิลปศาสตรบัณฑิต คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ปริญญาโทด้านบริหารการศึกษา มหาวิทยาลัยนเรศวร

1.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ / 2.อนันต์ ชูโชติ / 3.ปิยพงศ์ กลิ่นพันธุ์

ลูกหม้อกรมศิลปากร ตั้งแต่บรรจุในตำแหน่งนักอักษรศาสตร์ 3 กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์

กระทั่งเป็นรองอธิบดีกรมศิลปากร และรองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม

13 ต.ค. 2558 เป็นอธิบดีกรมศิลปากร

เข้มคือเสียง คสช. ที่ขอทุกฝ่ายงดเคลื่อนไหวทวงคืนหมุดคณะราษฎร เพื่อความปรองดอง

ระบุจาก พ.อ.ปิยพงศ์ กลิ่นพันธุ์ ทีมโฆษก คสช. ว่า นายกรัฐมนตรี รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม ที่ดูแลด้านความมั่นคง รวมถึงผู้บัญชาการทุกเหล่าทัพ ให้ความสำคัญกับกระบวนการสร้างความสามัคคีปรองดองที่กำลังเดินหน้าไปได้ด้วยดี จึงควรสร้างความสงบเรียบร้อยในบ้านเมืองเป็นหลัก

มากกว่าจะมาจุดประเด็นเรื่องทวงคืนหมุดคณะราษฎร

ว่าการเคลื่อนไหวของกลุ่มนิสิต นักศึกษา และอาจารย์มหาวิทยาลัยที่เรียกร้องขอดูภาพจากกล้องวงจรปิดนั้น ทางคสช.ขอ ความร่วมมือ อะไรก็ตามที่จะทำให้เกิดความ ไม่เรียบร้อย เราก็ต้องขอความร่วมมือ ความร่วมแรง ร่วมใจ เพื่อนำพาประเทศไปสู่ความปรองดอง

เพื่อนตท.23 ของ พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด เติบโตมาจาก ร.12 รอ.ใน พล.ร.2 รอ. ถือเป็นนายทหารสายบูรพาพยัคฆ์

อดีตผบ.ทบ. พล.อ.ธีรชัย นาควานิช เลือกมาเข้าทีมโฆษกคสช.

ทีมโฆษก คสช.กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ คสช. และรัฐบาลและเจ้าหน้าที่รัฐที่ถือกฎหมาย มีขั้นตอนมาตรการต่างๆ อยู่แล้ว เริ่มจากขอความร่วมมือ

อย่างไรก็ตาม เสียงจากสังคมคือ เมื่อของหายไป ก็ต้องถามหา โดยเฉพาะเมื่อของนั้นเป็นโบราณวัตถุคู่แผ่นดินประชาธิปไตยประเทศไทย

เสียงนี้เริ่มดังขึ้นเรื่อยๆ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน