วงล้อเศรษฐกิจ

การบริโภคภาคเอกชนในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา มีความต่อเนื่องและเริ่มกระจายตัวไปในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศได้ทั่วถึงขึ้น อีกทั้งยังพบว่าการใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าคงทนปรับดีขึ้นในทุกภูมิภาค

เนื่องจากรายได้เกษตรกรที่สูงขึ้นตามราคาสินค้าเกษตรที่ปรับเพิ่มขึ้น และผลผลิตที่ทยอยกลับเข้าสู่ตลาดหลังจากภาวะภัยแล้งคลี่คลายไปเมื่อปลายปีก่อน ช่วยให้การบริโภคฟื้นตัวได้เร็วและแข็งแรงกว่าที่ผ่านมา แตกต่างจากการบริโภคในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งต้องพึ่งพานโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ จากภาครัฐเป็นหลัก

โดยพบว่าแนวโน้มรายได้เกษตรกรปี 2560 มีแนวโน้มปรับดีขึ้น วัดจากปริมาณน้ำในเขื่อนที่อยู่สูงกว่าระดับค่าเฉลี่ยรอบ 30 ปี

แต่ประเด็นที่ต้องจับตา คือ พื้นที่เพาะปลูกนอกเขตชลประทาน ซึ่งคิดเป็น 84% ของพื้นที่เพาะปลูกทั้งหมด เพราะล่าสุด National Oceanic and Atmospheric Administration (NOAA) ของสหรัฐ ประเมินว่ามีความเป็นไปได้เกินกว่าครึ่งที่ไทยจะเผชิญกับเอลนีโญ่ ตั้งแต่ไตรมาส 3 ของปีนี้

โดยจะส่งผลให้มีฝนน้อยแต่ NOAA คาดว่าจะเกิดนานเพียง 6-10 เดือน เทียบกับเมื่อ 2 ปีก่อนที่กินเวลายาวนานกว่า 21 เดือน

โดยจะกระทบเฉพาะพืชเศรษฐกิจหลักบางชนิด คือข้าวและข้าวโพด เพราะเป็นพืชไร่ซึ่งไม่ทนแล้ง สำหรับผลผลิตสำคัญตัวอื่นคาดว่าจะได้รับผลกระทบอย่างจำกัด เช่น ยางพาราและปาล์มน้ำมัน ที่เป็นไม้ยืนต้นจึงทนแล้ง เป็นต้น

ส่วนรายได้ของเกษตรกรในภูมิภาคส่วนใหญ่ของประเทศจะเติบโตจากปีก่อน เกษตรกรในภาคใต้ ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก มีแนวโน้มขยายตัวดีกว่าภูมิภาคอื่น เนื่องจากพืชเศรษฐกิจสำคัญมีแนวโน้มเติบโตดี เช่น ปาล์มน้ำมัน และยางพารา

ขณะที่เกษตรกรในภาคกลางแม้จะพึ่งพาผลผลิตข้าว แต่ยังมีสินค้าเกษตรอื่นที่มีแนวโน้มเติบโตดีมาชดเชย เช่น กุ้งขาว เป็นต้น ภูมิภาคที่รายได้เกษตรกรอาจลดลงบ้าง คือ ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพราะมีข้าวเป็นพืชเศรษฐกิจหลัก

ทำให้คาดการณ์ว่าการบริโภคภาคเอกชนอาจฟื้นตัวได้เร็ว และแข็งแรงกว่าที่เคยเป็นมาในอดีต

วิจัยกรุงศรี บมจ.ธนาคารกรุงศรีอยุธยา

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน