อาการทางการเมืองที่นำไปสู่การสกัดและขัดขวางมิให้ โจชัว หว่อง เดินทางเข้ามาพูดและบรรยายในประเทศไทยมากด้วยความละเอียดอ่อนอย่างยิ่ง

โดยเฉพาะเมื่อมองผ่านประเด็นในทาง “การเมือง”

การสกัดและขัดขวางให้ “ความหมาย” ในลักษณะ 2 ด้าน เหมือนกับเป็นการไม่ให้บทบาท เหมือนกับเป็นการไม่ให้ความหมาย

แต่การตัดสินใจเช่นนั้นนั่นแหละ “สำคัญ”

สำคัญเพราะในอีกด้านหนึ่งทำให้สรุปได้ว่า เพราะให้บทบาท เพราะให้ความหมายอย่างชนิดเกินจริงนั้นเองจึงนำไปสู่การสกัดและขัดขวาง

เป็นการสกัดและขัดขวาง “ความหมาย” อันมีอยู่ในตัว โจชัว หว่อง

“ความหมาย” นี้หากมีการประสานและหลอมรวมกับสถานการณ์แห่งการรำลึกถึง 6 ตุลาคม 2519 ในวาระครบรอบ 40 ปีก็จะนำไปสู่บทบาทที่เหนือความคาดหมาย

จึงจำเป็นต้องสกัดและขัดขวาง โจชัว หว่อง

ถามว่าอะไรคือบทบาท อะไรคือความหมาย อันก่อเกิดขึ้นมาในตัวของ โจชัว หว่อง ซึ่งเสมอเป็นเพียงเด็กน้อยอายุ 19 ปี

คำตอบคือ “ประชาธิปไตย”

ไม่ว่าจะมองจากด้านของสาธารณรัฐประชาชนจีน ไม่ว่าจะมองจากด้านของทหารและตำรวจซึ่งคุมอำนาจอยู่ในไทย

ล้วนเห็น “อันตราย” ในลักษณะ “ร่วมกัน”

เพราะบทบาทของ โจชัว หว่อง ในฮ่องกง คือ บทบาทของเยาวชนที่เข้าร่วมในการเคลื่อนไหวทางการเมือง โดยมี “ประชาธิปไตย” เป็นเครื่องมือ และได้กลายเป็นอาวุธ ทิ่มทะลวงเข้าไปในท่าทีและความเป็นจริงของจีนเมื่อเข้าไปจัดระเบียบฮ่องกง

การปฏิเสธ โจชัว หว่อง จึงเท่ากับเป็นการปฏิเสธ ประชาธิปไตย

ประเทศไทย “ต่าง” จากประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน อย่างแน่นอน ไม่ว่าจะมองในด้านการเมืองหรือในด้านการปกครอง

จีนปกครองด้วยระบอบ “สังคมนิยม”

เป็นระบอบสังคมอย่างที่เรียกว่ามีเอกลักษณ์จีน เป็นระบอบที่อยู่ภายใต้อำนาจอันแข็งแกร่งของพรรคคอมมิวนิสต์จีน

เรียกตามสำนวนโบราณก็คือ จีนเป็น “คอมมิวนิสต์”

ที่เรียกว่าระบอบสังคมนิยมก็เพราะตามทฤษฎีแล้วสังคมนิยมเป็นก้าวที่ 1 ของพัฒนาการก่อนที่จะบรรลุสู่สังคมคอมมิวนิสต์ตามทฤษฎีความเชื่อแห่งลัทธิมาร์กซ์-เลนิน

นี่ย่อมตรงกันข้ามกับประเทศไทยที่มิได้เป็น “คอมมิวนิสต์”

ความจริงหากประเมินผ่านลักษณะสังคมไทยประสานเข้ากับคำประกาศในเรื่อง “โรดแม็ป” ทางการเมือง
ประเทศไทยน่าจะเป็นมิตรกับ โจชัว หว่อง มากกว่า เพราะว่าไทยมิได้เป็นคอมมิวนิสต์และไทยมีความต้องการที่จะปฏิรูปประเทศให้ก้าวเข้าสู่ความเป็น “ประชาธิปไตย”

แล้วทำไมไทยจึงต้องสกัด ขัดขวาง โจชัว หว่อง มิให้เข้ามา

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน