สดจากสนามข่าว

ยุทธนา เกียรติดำเนินงาม เรื่อง/ภาพ

“พะยูง” หนึ่งในไม้หวงห้าม ประเภท ก. ตามประกาศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 106/2557 เรื่องแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยป่าไม้ กำหนดโทษหากผู้ใดมีไว้ครอบครองโดยผิดกฎหมาย จะมีโทษจำคุกตั้งแต่ 1-20 ปี และปรับตั้งแต่ 5,000-2,000,000 บาท จากเดิมที่พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 กำหนดโทษจำคุก 2-5 ปี ปรับ 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ด้วยความนิยมในการใช้ไม้ชนิดนี้ในประเทศจีน ที่เริ่มจากการนำเข้าไม้ชนิดนี้ไปซ่อมแซมพระราชวังต้องห้าม ในช่วงการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ในปี 2551

ต่อมาก็มีความนิยมนำไม้พะยูงไปแปรรูปเป็นเฟอร์นิเจอร์ วัตถุมงคลและของแต่งบ้านชิ้นเล็กๆ เช่น ตัวปี่เซียะ เทพเจ้าฮก ลก ซิ่ว ทำให้ราคาซื้อหาแพงลิบลิ่ว

จนมีผู้ลอบตัดไม้พะยูงในป่า รวมถึงลักเสารั้วบ้าน โรงเรียน กระทั่งวัดตามพื้นที่ชนบท นำไปขายต่อให้นายทุน

แม้เจ้าหน้าที่บ้านเมืองจะกวาดจับได้แทบทุกวัน

ถึงมิจฉาชีพจะไม่เกรงกลัวกบิลเมือง แต่ในสายตาสุจริตชนกฎหมายคือประกาศิตที่ไม่อาจละเมิด จนเป็นเหตุให้ นางหนึ่งฤทัย สารภัคดี อายุ 51 ปี เลขที่ 101 ม.4 ต.หัวงัว อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ ต้องหอบหิ้วเสื้อผ้าอพยพไปอาศัยกับญาติ

เพราะบ้านที่อาศัยอยู่ถูกต้นพะยูงโค่นทับเสียหาย แต่ไม่กล้าตัดออก เพราะกลัวต้องเข้าคุกติดตะราง

นางหนึ่งฤทัยเผยว่า ช่วงเย็นของวันที่ 29 เม.ย.ที่ผ่านมา ขณะที่อยู่ในบ้านหลังดังกล่าวพร้อมสามี และหลานชายวัย 6 ขวบ ได้เกิดฝนตกลงมาอย่างหนักและมีลมกระโชกแรง

ทันใดนั้นต้นพะยูงที่อยู่ข้างบ้านต้านแรงลมไม่ไหวโค่นล้มลงมาทับหลังคาบ้านจนได้รับความเสียหายและยังเกี่ยวสายไฟจนขาด ลงมาด้วย

หลังพายุลมฝนสงบลงมีหลายหน่วยงานเข้ามาตรวจสอบและบอกว่าอย่าเพิ่งตัดไม้ออกไป เพราะเป็นไม้หวงห้าม

เมื่อนำเรื่องไปบอกผู้ใหญ่บ้าน มีคนที่รู้กฎหมายให้ความรู้ว่าหากพิสูจน์ได้ว่าพะยูงต้นดังกล่าวอยู่ในที่ดินส่วนตัวจริง สามารถตัดได้ไม่ผิดกฎหมาย

แต่ก็เกิดติดขัดตรงเอกสารสิทธิที่ดินแปลงดังกล่าวนำไปจำนอง ไว้ที่ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ทางธนาคารบอกว่าไม่มีสิทธิ์ออกเอกสารยืนยันให้ได้ ก็พากันไปแจ้งที่ศูนย์ดำรงธรรมแล้วและแจ้งที่ป่าไม้จังหวัด

แต่เวลาผ่านไปนาน 3 เดือน ไม่มีใครมาให้ความช่วยเหลือ จนต้องร้องขอความเป็นธรรมผ่านสื่อมวลชน เมื่อวันที่ 25 มิ.ย.ที่ผ่านมา

หลังเป็นข่าวได้วันเดียว พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รอง ผบ.ตร. มองว่าเรื่องดังกล่าวเป็นกรณีที่เรียกว่า “ไม้ล้มขอน นอนไพร” จึงให้ พล.ต.ต.ชยพล ฉัตรชัยเดช ผบก.ส.4 เร่งไปช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน ประสาน สภ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ เข้าช่วยเหลือตัดไม้พะยูงที่ล้มทับออกจากตัวบ้าน

พร้อมจัดทำบัญชีนำไม้พะยูงส่งให้สำนักงานป่าไม้ จ.กาฬสินธุ์ นำไปเก็บรักษาเอาไว้

ขณะที่นายสุวิทย์ คำดี ผวจ.กาฬสินธุ์ พร้อมพ.อ.มานพ ไขขุนทด รอง ผอ.กอ.รมน.กาฬสินธุ์ นายธนูสินธุ์ ไชยสิริ ปลัดจังหวัด นายพิชิต สมบัติมาก ผอ.สนง.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกาฬสินธุ์ นายนิยม กิตติวงศ์ตระกูล ผอ.ส่วนทรัพยากรธรรมชาติ นายวิชาญ แท่นหิน ปภ.กาฬสินธุ์ พ.ต.อ.ภัทรพล หาญทนงค์ ผกก.สภ.ยางตลาด นายดุสิต ภูไกลาศ กำนันตำบลหัวงัว และนางหนึ่งฤทัย เจ้าของบ้าน ร่วมกันหารือถึงการแก้ปัญหาและเร่งเยียวยาอย่างเร่งด่วน

ด้าน นายอรรถพล เจริญชันษา รองอธิบดีกรมป่าไม้ เผยว่า กรณีที่เกิดภัยธรรมชาติจนทำให้ไม้หวงห้ามหักล้มทับบ้านเรือน รถยนต์ หรือทรัพย์สินมีค่า ซึ่งต้องเร่งตัดหรือเคลื่อนออกโดยเร่งด่วนนั้น มี 2 แนวทางในการดำเนินการคือ

1.หากมีเอกสารโฉนดที่ดินยืนยันว่าไม้หวงห้ามได้ขึ้นในพื้นที่ของตน ชาวบ้านสามารถไปแจ้งยังสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด (ทสจ.) หรือสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ กรมป่าไม้ ในพื้นที่เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตัดหรือเคลื่อนย้ายได้ทันที

2.กรณีที่ไม่มีเอกสารโฉนดที่ดินมาเป็นหลักฐาน เนื่องจากนำโฉนดที่ดินไปเข้าธนาคารอย่างกรณีนางหนึ่งฤทัย หรือกรณีใดๆ ชาวบ้านสามารถแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน ซึ่งทั้งฝ่ายปกครอง ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ป่าไม้ หรือ ทสจ. จะร่วมลงพื้นที่เพื่อเป็นสักขีพยานการตัดไม้หรือเคลื่อนไม้ดังกล่าว และให้เก็บไม้หวงห้ามนั้นไว้เป็นไม้ของกลาง จนกว่าชาวบ้านจะนำเอกสารโฉนดที่ดินมายืนยันเป็นเจ้าของจึงจะคืนให้

รองอธิบดีกรมป่าไม้ออกมาให้ข้อมูลเอง ชาวบ้านก็เบาใจ จะได้ปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน