สุนทรภู่ : คอลัมน์รู้ไปโม้ด โดย…น้าชาติ ประชาชื่น

สุนทรภู่ – สุนทรภู่จริงๆ แล้วไม่ใช่ชาวเมืองแกลงใช่ไหมครับ

ทองทัด

ตอบ ทองทัด

“นิราศเมืองแกลงของสุนทรภู่ (แต่งราว พ.ศ. 2350 อายุราว 21 ปี) เล่าเรื่องการเดินทางไปเมืองแกลง (จ.ระยอง) ตามภารกิจ ‘ราชการลับ’ ของราชสํานัก…กรุงเทพฯ ไปเมืองแกลง สมัยนั้นหนทางคมนาคมทุรกันดาร สุนทรภู่ซึ่งเป็นชาวกรุงเข็ดขยาด จึงแต่งกลอนรําพึงรําพันว่า “จะกรวดน้ำคว่ำขันจนวันตาย แม้เจ้านายท่านไม่ใช้แล้วไม่มา” เป็นหลักฐานตรงๆ ว่าสุนทรภู่ไม่รู้จักเมืองแกลง, ไม่เคยไปเมือง แกลง, ไม่อยากไปเมืองแกลง และไม่ได้ไปเพื่อเยี่ยมบ้านเกิด เพราะไม่ใช่บ้านเกิดของตน

บิดาของสุนทรภู่ ‘บวชการเมือง’ เป็นสมภารเจ้าวัดอยู่บ้านกร่ำ เมืองแกลง เพื่อปฏิบัติ ‘ราชการลับ’ จึงไม่มีกรณีหย่าร้างกับภรรยา (แม่ของสุนทรภู่) ตามที่มีผู้ใส่ร้าย”

คือถ้อยอธิบายของ สุจิตต์ วงษ์เทศ คอลัมนิสต์เครือมติชนและระบุว่า สุนทรภู่อยู่ในตระกูลผู้ดีกรุงเทพฯ และใกล้ชิด เจ้านายกรุงรัตนโกสินทร์ เกิดที่วังหลัง สมัย ร.1 วันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2329 ตายที่วังเดิม สมัย ร.4 พ.ศ. 2398 อายุ 69 ปี สุนทรภู่ไม่มีนามสกุล เพราะสมัยนั้นยังไม่ใช้นามสกุล และไม่พบลูกหลานสืบสายตระกูลจนถึงสมัยมีนามสกุล รวมทั้งไม่ได้เกิดที่บ้านกร่ำ เมืองแกลง จ.ระยอง จึงไม่เกี่ยวข้องกับนามสกุลใดๆ ของที่นั่น

สุนทรภู่

พ่อแม่มีเชื้อสายพราหมณ์เมืองเพชรบุรี(ตามที่ อ.ล้อมเพ็งแก้วค้นคว้าวิจัยไว้) มีหลักแหล่งอยู่กรุงเก่าอยุธยา ครั้นหลัง กรุงแตก (พ.ศ.2310) ได้โยกย้ายไปอยู่กรุงธนบุรี รับใช้ ใกล้ชิดขุนนางใน แผ่นดินพระเจ้าตาก มีบรรดาศักดิ์ว่าพระยาสุริยอภัย (นามเดิมทองอิน ที่ต่อไปเป็น “วังหลัง” กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข สมัย ร.1) ซึ่งมีเคหสถาน อยู่บ้านปูน (ข้างเหนือวัดระฆังย่านตรอกวังหลัง ใกล้ โรงพยาบาลศิริราช)

ปู่ย่าตายายสืบเชื้อสายจากพราหมณ์รามราช เมือง ราเมศวรัม ใกล้ปลายแหลมรัฐทมิฬนาฑู อินเดียใต้ มีแนวหินโสโครกเชื่อมเกาะศรีลังกา เรียกถนนพระราม (มีส่วนเป็นพลังสร้างสรรค์วรรณกรรมเรื่องพระอภัยมณี มีตัวละครสําคัญๆ เกี่ยวข้องวัฒนธรรมพราหมณ์)

สุนทรภู่เกี่ยวข้องการเมืองอย่างเต็มตัวมานานแล้ว และอยู่ในกลุ่มขุนนางฝักใฝ่เจ้าฟ้ามงกุฎ ครั้นกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์เสวยราชย์เป็นพระเจ้าแผ่นดิน จึงร้อนตัวออกบวชเป็นภิกษุหนีราชภัย พ.ศ. 2367 อายุราว 38 ปี แต่ ร.3 ไม่รังแก กลับยกย่องให้ภิกษุสุนทรภู่เป็นครูสอนหนังสือให้โอรสธิดาน้อยๆ (มีบอกในเพลงยาวถวายโอวาท) แล้วให้ธิดา (องค์โปรด) อุปถัมภ์ โดย นิมนต์ไปจําพรรษาอยู่วัดเทพธิดาราม (มีบอกในรําพันพิลาป)

สุนทรภู่เป็นผู้ดีมีตระกูลใกล้ชิดเจ้านาย มีหน้าที่การงานสูงส่งด้วยยศถาบรรดาศักดิ์ เป็นนักปราชญ์ประจําราชสํานักอยู่ในวังหลวง เมื่อบวชเป็นพระสงฆ์ก็จําพรรษาวัดหลวงอยู่ในอุปถัมภ์ของเจ้านายชั้นสูง ครั้นเดินทางไปที่ต่างๆ ตามหัวเมืองได้แต่นั่งๆ นอนๆ ในเรือ เพราะมีคนรับใช้แจวหัวเรือท้ายเรือล้วนเป็นลูกศิษย์ลูกหาสาวกบ่าวไพร่

แต่ในนิราศบางตอนมีรําพึงรําพันความทุกข์ยากและตัดพ้อต่อว่า (เช่น ไม่มีพสุธาจะอาศัย เป็นต้น) ล้วนเป็นโวหารของมหากวีอย่างสุนทรภู่ ซึ่งมีความหมายทางการเมืองในราชสํานักครั้งนั้นที่กระทบถึงตน แต่ไม่หมายถึงร่อนเร่ไร้หลักแหล่งจริงๆ

[email protected]

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน