บทความนี้เป็นข้อเขียนของ ไมเคิล จอร์จ ดีซอมบรี ทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยคนใหม่ ซึ่งต้องการแสดงความคิดเห็นถึงการขยายอิทธิพลของจีน ประเด็นทะเลจีนใต้ ว่าด้วยการธำรงไว้ซึ่งสิทธิอธิปไตยของรัฐทั้งมวล

ขณะโลกกำลังมุ่งเน้นความสนใจไปที่การต่อสู้กับโรค โควิด-19 สาธารณรัฐประชาชนจีนกลับฉวยยกระดับการ กระทำรุกรานในทะเลจีนใต้ ยุทธวิธีการบีบบังคับ บ่อนทำลาย และให้ข้อมูลบิดเบือนในทะเลจีนใต้ ทำให้เกิดคำถามว่า สาธารณรัฐประชาชนจีนอาจใช้วิธีการดังกล่าวในส่วนอื่นๆ ของภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกอย่างไรบ้าง

จีนสร้างแนวปะการังเทียมพร้อมฐานทัพในทะเลจีนใต้ (ภาพ – Bullit Marquez สำนักข่าวเอพี)

 

เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2563 ทางการจีนประกาศดำเนินโครงการใหม่ที่มีชื่อว่า “Blue Sea 2020” ว่าด้วยการ บังคับใช้กฎหมายทางทะเล เพื่อ “ยกระดับการคุ้มครอง สิ่งแวดล้อมทางทะเล” แต่เหตุการณ์วันต่อมา สะท้อนถึง เป้าหมายที่แท้จริง

เมื่อเรือของจีนจมเรือประมงเวียดนาม ทางการจีนเสริมกำลังของฐานทัพหลายแห่งรอบหมู่เกาะสแปรตลี (Spratly Islands) พื้นที่พิพาทของภูมิภาคแห่งนี้ ด้วยการส่งเครื่องบินเข้าไปประจำการเพิ่ม และจัดตั้ง “สถานีวิจัย” หลายแห่ง

เรือประมงฟิลิปปินส์เสียหายกองอยู่ริมหาดจังหวัดมินโดโร ( ภาพ : เอพี )

 

ตลอดจนส่งเรือสำรวจแหล่งพลังงานและกองเรือรบติดอาวุธลงพื้นที่เพื่อข่มขวัญผู้ประกอบการน้ำมันและก๊าซนอกชายฝั่งมาเลเซีย และยั่วยุอินโดนีเซียโดยการส่งเรือประมงและเรือ คุ้มกันจำนวนหลายร้อยลำเข้าไปยังน่านน้ำรอบเกาะนาทูนา (Natuna Island) ของอินโดนีเซีย

ทางการจีนเตือนว่าผู้ใดก็ตามที่ต่อต้านคำกล่าวอ้างอธิปไตยอันน่าขันของจีนเหนือทะเลจีนใต้นั้น “จะต้องประสบกับความล้มเหลว”

การกระทำเหล่านี้เข้ากับแบบแผนอย่างหนึ่ง นั่นคือเมื่อจีนเข้าไปที่ใด เราก็คาดได้เลยว่าจะได้เห็นประเทศนี้ไม่เคารพกฎ สร้างชุดความจริงของตนเองขึ้นมา และไม่รักษาสัญญาที่เคยให้ไว้มากขึ้นเรื่อยๆ

ชาวไทยเองก็เห็นปรากฏการณ์ดังกล่าวได้อย่างชัดเจนจากภัยแล้งที่รุนแรงเป็นประวัติการณ์ในแม่น้ำโขง ซึ่งขัดกับคำมั่นที่จีนเคยให้ไว้ก่อนหน้านี้ว่าจะแบ่งปันทรัพยากรน้ำที่อุดมสมบูรณ์ให้กับประเทศปลายน้ำ แต่แทนที่จะเป็นเช่นนั้น เรากลับเห็นหลักฐานว่าการสร้างเขื่อนจำนวนมากที่ต้นน้ำของจีนทำให้บริษัทผลิตไฟฟ้าพลังน้ำควบคุมการไหลของน้ำมายังปลายน้ำเพื่อผลประโยชน์ที่มากขึ้น

ระดับน้ำในแม่น้ำโขง ปัจจุบันลดลงต่ำสุดในรอบทศวรรษ สัมพันธ์กับการตัดสินใจของจีนในการกักน้ำไว้ที่ต้นน้ำ รัฐบาลไทยได้คัดค้านแผนการระเบิดแก่งและขุดลอกแม่น้ำโขงของจีน ซึ่งเป็นการกระทำที่ถูกต้องยิ่ง

แนวปะการังเทียม Subi Reef ในทะเลจีนใต้, (ภาพ-public domain)

 

อย่างไรก็ดี ทางการจีนยังคงปฏิบัติการลาดตระเวนในบริเวณแม่น้ำนอกอาณาเขตของตนตามแนวชายแดนไทย และเรายังเห็นการผลักดันให้เกิดกฎเกณฑ์การบริหารจัดการแม่น้ำที่มีจีนเป็นผู้กำหนด ซึ่งจะบั่นทอนการทำงานของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) อันเป็นเวทีระดับพหุภาคีเกี่ยวกับแม่น้ำโขงเวทีเดียวที่มีสนธิสัญญารับรอง

สหรัฐอเมริกาจึงขอสนับสนุนประชาชนและรัฐบาลไทยในการเรียกร้องความโปร่งใสและความรับผิดชอบจากจีน เพื่อป้องกันไม่ให้ภัยแล้งที่สร้างความเสียหายมหาศาลเมื่อปีที่แล้วเกิดขึ้นซ้ำรอย รวมทั้งคุ้มครองสวัสดิภาพและความเป็นอยู่ของชุมชนไทย

ทํานองเดียวกัน การกระทำของจีนในทะเลจีนใต้ยังส่งผลโดยตรงต่อไทยด้วย แม้ไทยจะไม่ได้เป็นผู้อ้างกรรมสิทธิ์ทะเลจีนใต้ แต่ไทยก็ได้รับประโยชน์จากการเดินเรืออย่างเสรีในทะเลจีนใต้สูงเป็นอันดับต้นๆ ในภูมิภาค

หากพิจารณาแล้วก็จะเห็นว่า มูลค่าการค้าสินค้าของไทยมักจะเกินร้อยละ 80 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ซึ่งคิดเป็นสินค้ามูลค่าเกือบครึ่งล้านล้านเหรียญสหรัฐ และการค้าเหล่านี้ส่วนใหญ่จะต้องผ่านเส้นทางในทะเลจีนใต้ เกษตรกร ผู้ผลิต และผู้บริโภคของไทยล้วนพึ่งพาการเดินเรืออย่างเสรีในน่านน้ำนี้ ซึ่งอำนวยให้เกิดการค้าที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้ดำเนินต่อไป

การกระทำบุ่มบ่ามเพื่อแสดงสิทธิควบคุมทะเลจีนใต้เป็นสัญญาณของการบั่นทอนเสถียรภาพของภูมิภาค และจำกัดเสรีภาพในการเดินเรือซึ่งเป็นหนึ่งแรงผลักดันหลักในการเติบโตของไทยและภูมิภาคนี้

การอ้างสิทธิ์ในทะเลจีนใต้ของสาธารณรัฐประชาชนจีนไม่มีกฎหมายระหว่างประเทศข้อใดมารองรับ และบางกรณีก็ยังไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงอีกด้วย เช่น การยืนกรานอย่างไม่สมเหตุสมผลว่าสันดอนเจมส์ (James Shoal) เป็นจุดใต้สุดของดินแดนจีน

ทั้งที่บริเวณดังกล่าวอยู่ไกลจากจีนกว่า 1,000 ไมล์ (1,600 ก.ม.) และห่างจากมาเลเซียไม่ถึง 50 ไมล์ (80 ก.ม.) อีกทั้งจมอยู่ใต้น้ำลึกกว่า 70 ฟุต (21 เมตร) ทำให้สันดอนเจมส์ไม่นับว่าเป็นดินแดนด้วยซ้ำไป

คำกล่าวอ้างอธิปไตยของทางการจีนดูเหมือนจะมาจากหนังสือแผนที่อังกฤษฉบับเก่าฉบับหนึ่ง และข้อผิดพลาด ในคำแปลที่ชี้ว่าสันดอนที่อยู่ใต้น้ำนี้เป็นสันทรายเหนือน้ำ ซึ่งไม่ตรงกับความจริงแต่อย่างใด แต่จีนก็ยังคงให้ข้อมูลที่ผิดเกี่ยวกับประเด็นทางทะเลดังกล่าวต่อไป

กลุ่มผู้นำประเทศอาเซียนได้ออกแถลงการณ์แสดงความหนักแน่นฉบับหนึ่ง ณ การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน ว่าข้อพิพาทในทะเลจีนใต้จะต้องได้รับการแก้ไขโดยใช้กฎหมายระหว่างประเทศ รวมไปถึงอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล (UNCLOS) ข้อความนี้นับว่าควรแก่เวลายิ่ง เนื่องจากวันที่ 12 กรกฎาคมเป็นวันครบรอบคำพิพากษาชี้ขาดของศาลอนุญาโตตุลาการทะเล จีนใต้ในปี 2559 ที่ไม่รับรองคำกล่าวอ้างสิทธิ์ทางทะเลของรัฐบาลจีน โดยระบุว่าเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ จีนจะต้องยอมรับคำพิพากษาในฐานะที่เป็นรัฐภาคีแห่งอนุสัญญา UNCLOS แต่กลับกล่าวว่าคำพิพากษาเป็นเพียง “เศษกระดาษ” แผ่นหนึ่งเท่านั้น

ขณะเดียวกันก็นำขีปนาวุธและเครื่องบินที่ทันสมัยเข้าไปประจำการในค่ายต่าง ๆ บนพื้นที่พิพาทรอบหมู่เกาะสแปรตลี การกระทำนี้ขัดกับคำมั่นของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ในการแถลงข่าวที่ทำเนียบขาวเมื่อปี 2558 ที่ระบุว่าจะไม่จัดกำลังทหารในบริเวณดังกล่าว

การกระทำของทางการจีนในทะเลจีนใต้สะท้อนถึงความ เพิกเฉยต่อสิทธิอธิปไตยของชาติอื่นโดยสิ้นเชิง การห้ามทำประมงและการคุกคามเรือในทะเลตามอำเภอใจของจีนทำให้กลุ่มประเทศอาเซียนไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากรนอกชายฝั่งของตน รวมไปถึงน้ำมันและก๊าซ มูลค่าประมาณ 2.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 77.5 ล้านล้านบาท) และพื้นที่การประมงที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

ทั้งหมดนี้นับเป็นมรดกของกลุ่มประเทศอาเซียน เช่นเดียวกับกระแสชีวิตของชุมชนชายฝั่งทะเล และความเป็นอยู่ของประชากรอาเซียนหลายล้านคน

ต้นตอของการกระทำเหล่านี้ทั้งหมดคือความเชื่อของจีนที่ว่า “อำนาจสร้างความชอบธรรม” และจีนไม่ได้อยู่ภายใต้ กฎเกณฑ์ใดๆ ทางการจีนใช้การบีบบังคับทางเศรษฐกิจกับประเทศที่เล็กกว่าหลายต่อหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการปล่อยให้ผลิตผลทางการเกษตรที่นำเข้าจากฟิลิปปินส์เน่าเสียที่ท่าเรือของจีนเพื่อประท้วงที่ทางการฟิลิปปินส์เรียกร้องให้ใช้กระบวนการอนุญาโตตุลาการตัดสินประเด็นทะเลจีนใต้

การคว่ำบาตรนอร์เวย์เนื่องจากคณะกรรมการโนเบลตัดสินมอบรางวัลสาขาสันติภาพให้แก่นายหลิวเสี่ยวโป หรือการตัดขาดการค้ากับเกาหลีใต้ที่ติดตั้งระบบป้องกันขีปนาวุธ THAAD เพื่อยับยั้งการทดสอบยิงขีปนาวุธของเกาหลีเหนือ

ทั้งหมดนี้ทำให้ทัศนคติการมองโลกของจีนเป็นที่ประจักษ์ เช่นเดียวกับคำกล่าวของนายหยาง เจียฉือ นักการทูตแนวหน้าของจีน ต่อบรรดานักการทูตอาเซียนในปี 2553 ที่ว่า “จีนเป็นประเทศใหญ่และประเทศอื่นๆ เป็นประเทศเล็ก และนั่นเป็นความจริง”

ทั้งหมดที่กล่าวมาแสดงถึงทัศนคติของจีนต่อพหุภาคีนิยมคำกล่าวข้างต้นของนายหยาง เจียฉือ เกิดขึ้นระหว่างการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (ARF) ซึ่งเป็นเวทีเพื่อการ เสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศโดยไม่คำนึงถึงอำนาจทางการทหารหรือเศรษฐกิจ

เรายังเห็นทางการจีนบ่อนทำลายเวทีระดับพหุภาคีในลักษณะดังกล่าว รวมถึงหลักการที่เวทีเหล่านี้ยึดถือ ไม่ว่าจะเป็นการค้าที่เสรีและเป็นธรรม ความโปร่งใส ความเปิดกว้าง หรือการเคารพหลักนิติธรรม จากการกระทำของจีนต่อองค์การการค้าโลก องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ องค์การตำรวจสากล และสหประชาชาติอีกด้วย

กฎหมายและบรรทัดฐานระหว่างประเทศได้นำมาซึ่งความมั่งคั่งอย่างมหาศาลในเอเชียตะวันออกตลอดเวลากว่าครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา เช่นเดียวกับหลายภูมิภาคทั่วโลก การ ส่งเสริมระเบียบที่เสรี เปิดกว้าง และยึดมั่นในกฎกติการะหว่างประเทศ

ตลอดจนการธำรงไว้ซึ่งสิทธิอธิปไตยของทุกรัฐ ไม่ว่ารัฐเหล่านั้นจะมีขนาด อำนาจ และศักยภาพทางการทหารเท่าใดก็ตาม

จะทำให้มั่นใจได้ว่าความมั่งคั่งนี้จะยังคงดำเนินต่อไปในอีกครึ่งศตวรรษข้างหน้า

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน