ทะลุคนทะลวงข่าว

ตลอด 8 ปี นับแต่เรือเหาะตรวจการณ์ รุ่น Aeros 40D S/N 21 หรือ SKY DRAGON เข้าประจำการ ก่อให้เกิดกระเเสวิพากษ์วิจารณ์เเละโจมตีอย่างหนักจากหลายฝ่ายถึงความคุ้มค่าเเละความโปร่งใส

กระทั่ง 14 ก.ย.ที่ผ่านมา พล.อ. เฉลิมชัย สิทธิสาท ผบ.ทบ.คนปัจจุบัน ได้ปลดประจำการเรือเหาะแล้ว

เนื่องจากตัวเรือเหาะซึ่งเป็นบอลลูน เป็นผืนผ้า หมดอายุการใช้งาน แต่กล้องตรวจการณ์ยังใช้งานได้

จึงต้องมีการปรับรูปแบบการใช้งาน อาจจะนำไปติดอากาศยาน

กองทัพยืนยันว่าจะไม่มีการซื้อตัวบอลลูนใหม่

เรือเหาะดังกล่าว กองทัพบกจัดซื้อสมัยพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เป็นผบ.ทบ. เมื่อปี 2552 ในรัฐบาลประชาธิปัตย์

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีขณะนั้น อนุมัติงบประมาณมูลค่า 350 ล้านบาท แบ่งเป็นตัวเรือเหาะ 260 ล้านบาท กล้องตรวจการณ์ และระบบ ภาคพื้น เช่น โรงเก็บ รถลากจูง ฯลฯ ประมาณ 100 ล้านบาท

จัดซื้อจากบริษัท เอเรียล อินเตอร์เนชั่นแนล คอเปอร์เรชั่น ประเทศสหรัฐ อเมริกา

ตอนซื้อหวังเป็นหนึ่งในยุทธการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้

แต่หลายฝ่ายเป็นห่วงว่า จัดซื้อไม่คุ้มค่า 350 ล้านบาท ราคาแพงเกินจริง เนื่องจากเรือเหาะของเอกชนที่มีขนาดใกล้เคียงกันมีราคาเพียง 30-50 ล้านบาทเท่านั้น

ต่อมาเกิดปัญหารั่ว และต้องเติมก๊าซฮีเลียมที่มีราคาแพง จนต้องจอดเก็บไว้ในโรงจอด กองพลทหารราบที่ 15 (พล. ร.15) อ.หนองจิก จ.ปัตตานี

จนถึงยุค พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผบ.ทบ. ได้จ้างบริษัทมาดูแลรักษาซ่อมบำรุง ตกปีละ 50 ล้านบาท และนำออกมาบินตรวจการณ์บ้าง

แต่ถูกวิจารณ์ว่าบินได้ระดับต่ำกว่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ และเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง

ล่าสุดเมื่อ 13 ธ.ค.2555 เกิดอุบัติเหตุขณะลงจอด ทำให้นักบินประจำเครื่องได้รับบาดเจ็บ 4 ราย ขณะกระโดดหนีตายลงมา ที่สนามบินบ่อทอง อ.หนองจิก ปัตตานี

สุดท้ายต้องจอดเก็บไว้ จนหมดอายุ

ผลการปลดประจำการเรือเหาะที่ใช้งานมาได้เพียง 8 ปี

1.พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา / 2.พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท / 3.ธิดา โตจิราการ

ธิดา โตจิราการชาวสุราษฎร์ธานี เคยเป็นหนึ่งในแนวร่วมเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ และเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ และแนวร่วมพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย

อดีตอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหิดล

มีชื่อเสียงจากบทบาทรักษาการประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) ปลายปี 2553

ปัจจุบันทำหน้าที่ที่ปรึกษา นปช.

ระบุชัดว่าสะท้อนให้เห็นถึงระบบการจัดซื้อจัดจ้างของกองทัพที่จะต้องแก้ไขอย่างยิ่ง

ทั้งกรณีเรือเหาะ, จีที 200 และรถเกราะยูเครน ล้วนเป็นแผลที่คนไทยกล่าวขวัญถึงแต่ยังให้เกียรติกองทัพ

ดังนั้น จึงควรใช้ 3 เรื่องนี้มาปรับปรุงกองทัพ

เรื่องเรือเหาะสะท้อนทั้งภูมิปัญญาและระบบการใช้องค์ความรู้ในการบริหารจัดการ

ย้ำด้วยว่า หากตนเองเป็นทหาร เรื่องนี้น่าขายหน้า แต่ไม่ใช่ความผิดของกองทัพทั้งหมด

ถือเป็นบทเรียนที่สำคัญ กองทัพไทยต้องยอมรับความผิดพลาด ถ้ายอมรับผิดจะเรียกคืนความศรัทธาจากประชา ชนได้

ถ้าไม่ยอมรับความจริงก็จะเจอปัญหาแบบนี้ซ้ำอีก

ขณะที่ บิ๊กป๊อก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา อดีตผบ.ทบ. ปัจจุบันรมว.มหาดไทย

ตท. 10 รุ่นเดียวกับ ทักษิณ ชินวัตร และจปร. 21

นายทหารสายบูรพาพยัคฆ์ อยู่ในสายงานคุมกำลังรบตั้งแต่เริ่มรับราชการ เคยเป็นผู้บังคับการ ร.21 รอ. ผู้บัญชาการ พล.1 รอ.

ขึ้นเป็นผบ.ทบ. ปี 2550 เกษียณปี 2553

ได้รับความไว้วางใจจากรัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ตั้งเป็นผอ.กองอำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินปี 2551 เพื่อปราบปรามการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ

นั่งหัวหน้าผู้ปฏิบัติงานศอฉ. สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในการสลายชุมนุมเสื้อแดงปี 2553

รัฐประหาร 22 พ.ค.2557 เป็น 1 ในคสช. เป็นรมว.มหาดไทยในรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์

ยืนยันเห็นด้วยหากมีการร้องเรียนให้ตรวจสอบทุจริต แม้การจัดซื้อเรือเหาะจะเกิดขึ้นในสมัยที่ตนเองเป็นผบ.ทบ.

แต่ช่วงการจัดซื้อ ไม่ได้เป็นผู้พิจารณาโดยตรง

ดังนั้น ต้องตรวจหาผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด

ภาระหนักจึงตกที่ พล.อ.เฉลิมชัย ในฐานะผบ.ทบ.คนปัจจุบัน

บิ๊กเจี๊ยบ ตท.16 และจปร.27 รุ่นเดียวกับ พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล ปลัดกระทรวงกลาโหม พล.อ.อ.จอม รุ่งสว่าง ผบ.ทอ. พล.อ.กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี

อดีตผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ ทหารรบพิเศษเบเรต์แดง

ปี 2558 เป็นผู้ช่วยผบ.ทบ. ขึ้นเป็นผบ.ทบ.คนที่ 40 ปี 2559

จะเกษียณราชการเดือนก.ย.2561

นอกจากจะสั่งปลดระวางการใช้งานเรือเหาะตรวจการณ์แล้ว

ยังต้องแก้ครหาการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ไร้ประสิทธิภาพ กู้ภาพลักษณ์กองทัพคืนมา

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน