ไดโนคอนเทนเนอร์ – ภาพตู้คอนเทนเนอร์ตั้งซ้อนสองชั้น กั้นถนนโดยรอบสำนักงานทรัพย์สินฯ รัศมีเกินกิโล ซึ่งกลายเป็นจุดถ่าย เซลฟี กลายเป็นภาพ CG ตัดต่อล้อเลียนว่อนโลกออนไลน์ สะท้อนให้เห็นชัดเจน ถึงทัศนะ วิธีการ ยุทธศาสตร์ช่วงชิงความชอบธรรม ที่แตกต่างกันสิ้นเชิงของสองฝ่าย
“แกงไดโนเสาร์” ม็อบราษฎรประกาศล่วงหน้า 7 วัน ทำให้รัฐตื่นตูมเพราะเป็นจุดอ่อนไหว รีบปักป้าย “เขตพระราชฐาน” ประกาศปิดถนนตั้งตู้คอนเทนเนอร์กั้นรั้วลวดหนาม พร้อม ชายฉกรรจ์หัวเกรียนไม่ทราบสังกัด ทำท่าว่าถ้าม็อบยังขืน ฝ่าไป แหลกแน่นอน
ที่ไหนได้ตอนดึก ม็อบประกาศเปลี่ยนที่หมาย ไป SCB โยนให้รัฐตัดสินใจจะเลิกกั้นถนนหรือไม่ หรือปล่อยไว้ ให้รถติดวินาศสันตะโร แล้วโทษม็อบ? เด็กเปรตหลอกตำรวจ โทษได้ไหม ชาวบ้านด่าใคร
ทำไมต้องตื่นตูมขนาดนั้น ทำไมต้องอ่อนไหว จนไม่แยแสความเดือดร้อนของประชาชน ถ้ากลัวม็อบเปลี่ยนกลับมากะทันหัน ตำรวจทหารก็ยังกั้นได้ ไม่เห็นต้องไปซื้อตู้คอนเทนเนอร์มาตั้ง (แล้วรีบทาสี กลัวทำให้บริษัทเขาเสียหาย จนป่านนี้ยังไม่รู้ ใช้งบส่วนไหนเป็นค่าซื้อตู้ค่าขนย้าย)
รัฐทำเกินกว่าเหตุ ทั้งทางกฎหมายและการใช้อำนาจ อันดับแรก ม็อบคนรุ่นใหม่ไม่ได้มุ่งใช้กำลังรุนแรงกระทั่งจะปล้นรถบรรทุกมาพังแบร์ริเออร์ตัดรั้วลวดหนาม เพราะม็อบประชาธิปไตยต้องสู้ด้วยสันติวิธี ไม่ใช่เอาชนะด้วยการหวังพึ่งรัฐประหารแบบ กปปส. ในทางการเมือง การชุมนุมโดยสงบ โดยสนุกสนาน เฟสติวัลบันเทิง เป็นจุดเด่นดึงคนเข้าร่วม แม้ ในทางยุทธวิธี อาจใช้เกมวัดใจ เช่นเดินไปจ่อแนวกั้น รื้อ แนวกั้น แต่ก็หลีกเลี่ยงการปะทะ
จนกระทั่งตำรวจใช้รถฉีดน้ำ แก๊สน้ำตา สารเคมี ที่หน้ารัฐสภา
ฉะนั้นถ้ายอมให้ม็อบไปหน้าสำนักงานทรัพย์สินฯ เขาก็ต้องชุมนุมโดยสงบ แม้คำปราศรัยขัดหู แต่ไม่สามารถทำอะไร เกินกว่าอ่านแถลงการณ์ ยื่นข้อเรียกร้อง เพราะสมมติม็อบฮือ ปีนรั้ว หรือสาดสี ก็เสียหายพ่ายแพ้ทันที
ในทางกฎหมาย การใช้อำนาจปิดกั้นถนนโดยรอบรัศมีเกินกิโล ก็เว่อร์เกินเหตุ ทนายอานนท์ นำภา แย้งว่าสำนักงาน ทรัพย์สินฯ ไม่ตรงตามมาตรา 7 พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ ที่ ห้ามชุมนุมในรัศมี 150 เมตร ซึ่งถ้าไปสู้กันในศาลก็น่าสนใจ เพราะมาตรา 7 เขียนไว้อย่างนั้นจริงๆ แต่ยังไม่รู้จะขึ้นศาลไหน
ยิ่งกว่านั้น การที่กฎหมายห้ามชุมนุมในเขต 150 เมตรจาก ที่ประทับ หรือ 50 เมตรจากทำเนียบรัฐสภา ก็ไม่ใช่ให้อำนาจ ขีดเส้นว่า ถ้าเข้ามาตะลุมบอนเลย เพราะการฝ่าฝืนข้อห้าม มีโทษจำคุก 6 เดือน ปรับ 10,000 บาท การกั้นรั้วลวดหนาม แล้วใช้กำลังใช้แก๊สน้ำตา จึงเปรียบได้กับคนขับรถฝ่าด่านไม่ให้ตรวจใบขับขี่ แล้วตำรวจยิงพรุน
ในทางการเมือง ยิ่งหนักสุด ถ้าเปรียบเป็นการสู้รบ ก็เหมือนรัฐทำสงครามแบบเก่า สร้างป้อมค่ายป้องกันจุดยุทธศาสตร์ เสียหายเท่าไหร่ไม่ว่าอย่าให้แหย่ขาเข้ามาแม้ก้าวเดียว ขณะที่ ฝ่ายเยาวชน ยุทธศาสตร์อยู่ที่ประเด็น ไม่ใช่สถานที่ แค่แหย่ว่าจะมาตรงนี้ ให้รัฐตื่นตูมเสียเอง ก็จุดประเด็นให้สังคมสนใจสำนักงานทรัพย์สินฯ โดยม็อบไม่ต้องมา
ซ้ำยังมีของแถมคือรัฐโดนแกง โดนหัวร่องอหาย โดย เย้ยหยันไยไพ โดนด่าทำให้รถติด
หากยกระดับขึ้นมามองทั้งกระบวนการต่อสู้ ก็จะเห็นยุทธศาสตร์เดียวกันทั้งเรื่องใหญ่เรื่องเล็ก เช่นการยั่วให้ใช้กฎหมายไร้สาระ “แบงก์เป็ด” ซึ่งก็คือคูปองอาหาร ไม่มีทาง เป็นแบงก์ปลอมไปได้ กินหมูกระทะ ตำรวจก็ไปเปิดตำราเอาผิดเอาเป็นเอาตาย
หรือเรื่องใหญ่แบบใช้ 112 “บิ๊กเซอร์ไพรส์” ม็อบเอา ส.ศิวรักษ์มาด่าประยุทธ์ ใช้ ม.112 ขัดพระบรมราชโองการ ไม่ทำตามกระแสพระราชดำรัส
ยุทธศาสตร์ของม็อบคือความกล้าท้าทาย พาอำนาจไดโนเสาร์กระโดดขึ้นรถไฟเหาะตีลังกา โดยแกนนำไม่กี่คน ที่กล้าเสี่ยง กล้าวัดใจ กล้าถูกดำเนินคดี ท้าให้อำนาจรัฐเดิน ไต่ปากเหวไปด้วยกัน
รัฐประหารสืบทอดอำนาจพยายามรักษาอำนาจไว้ในคราบประชาธิปไตยปลอม ซึ่งควบคุมได้หมดทุกอย่าง รัฐราชการทหารตำรวจกระบวนการยุติธรรม 250 ส.ว.แต่งตั้ง ยุบพรรคดูด ส.ส. กระทั่งจะควบคุมการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ไปสู่สืบทอดอำนาจเฟส 3
ผู้มีอำนาจต้องการให้ทุกอย่างนิ่งอยู่ใต้ความไม่ชอบธรรม ม็อบราษฎรจึงไม่กลัวความเสี่ยง ไม่กลัวกระทั่งรัฐประหาร เพราะรู้ดีว่าฝ่ายรัฐต้องการรักษาอำนาจไว้อย่างนี้มากกว่า ไม่กลัวการใช้กฎหมายรุนแรง เพราะจะยิ่งเกิดแรงต้าน เช่น 112 ก็เกิดปฏิกิริยาจากองค์กรสิทธินานาชาติ (กระทั่งตำรวจต้องออกหมายเรียกไม่ใช่หมายจับ)
พูดง่ายๆ ศึกวัดใจ อำนาจไดโนเสาร์ไม่มีความอดทน อดกลั้น ไม่ฉลาด ไม่มีประสิทธิภาพพอที่จะจัดการม็อบอย่างเหมาะสม ดังเห็นจากตู้คอนเทนเนอร์ เดี๋ยวใช้มาตรการ เว่อร์ไป เช่นฉุกเฉินร้ายแรง กวาดจับ แต่ก็ต้องปล่อย ใช้กำลังสลายแบบปทุมวัน แบบหน้ารัฐสภา ก็ถูกประณาม
วัดใจกันจะทนอัดอั้นได้สักเท่าไหร่ ทนไม่ได้ก็ยิ่งพัง