คอลัมน์ บทบรรณาธิการ
รอลมไล่ฝุ่น? – นอกจากความวิตกเรื่องโรคระบาดโควิด-19 แล้ว ประชาชนในหลายเมืองต้องเผชิญกับปัญหาฝุ่นพีเอ็ม 2.5 หลายระลอก แต่ละครั้งกินเวลานานบ้าง สั้นบ้าง โดยไม่มีวี่แววยุติ
แม้มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ชัดเจนว่า ฝุ่นอันตรายดังกล่าวจะเกินมาตรฐานในช่วงต้นปีของทุกปี แต่ปัญหานี้ยังคงเรื้อรังอย่างต่อเนื่อง
แม้ว่าภาครัฐแจ้งว่ารับมือสถานการณ์ตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติแล้ว และมีตัวเลขยืนยันว่าค่าฝุ่นละอองโดยรวมลดลง
แต่การที่ประชาชนตื่นเช้ามาพบกับสภาพฝุ่นคลุมเมืองนั้น ทำให้มองไม่ชัดว่าปัญหาบรรเทาลงมากน้อยเพียงใด
รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพิ่งเอ่ยขอโทษชาวกทม. และให้ข้อมูลพยากรณ์อากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาว่าช่วง 4-5 วันจากนี้ไปผู้คนยังจะต้องเผชิญกับสภาพฝุ่นดังกล่าว เนื่องจากเป็นช่วงที่ลมค่อนข้างสงบ ทำให้เกิดปรากฏการณ์ฝาชีครอบในพื้นที่กรุงเทพฯ
สำหรับสาเหตุที่มีฝุ่นมาก มาจากอิทธิพลจากการเผาไหม้ในพื้นที่โล่ง นอกพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นพื้นที่ทางการเกษตร มาจากทางตอนเหนือ และทิศตะวันออกของกรุงเทพฯ บวกกับกระแสลม
ทางแก้ปัญหานี้ รัฐมนตรีทส. ระบุว่าร่วมกับกระทรวงมหาดไทย กำชับผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด ให้สั่งการไปยังเกษตรจังหวัด และเกษตรอำเภอ พร้อมกำชับผู้นำท้องถิ่นเพื่อขอความร่วมมือเกษตรกรไม่ให้เผาเศษพืช
คำถามคือการขอความร่วมมือยังเป็นวิธีการที่รับมือได้อยู่หรือไม่ หรือจะต้องปรับปรุงอะไรอีกมาก
กรณีนครเซี่ยงไฮ้ของจีนที่เพิ่งแถลงผลการ ลดฝุ่นพีเอ็ม 2.5 เมื่อกลางเดือนมกราคมนี้ ระบุชัดว่าปี 2563 ลดปริมาณพีเอ็ม 2.5 ให้ต่ำลงถึงร้อยละ 36 เมื่อเทียบกับปี 2561
เพราะแผนลดมลพิษนี้บรรจุอยู่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจีน ระยะ 5 ปี ฉบับที่ 13 ปี 2559-2563
ผลที่ได้มาจากมาตรการควบคุมการใช้ถ่านหินอย่างเข้มงวด พร้อมส่งเสริมการซื้อยานยนต์พลังงานใหม่ตลอด 5 ปีมานี้
กรณีของไทย หากต้องการจัดการปัญหานี้อย่างจริงจัง รัฐบาลต้องกางแผนงานและตั้งเป้าหมายให้ชัดเจน ไม่ใช่ไล่ปิดโรงเรียนหนีฝุ่น แจ้งประชาชนใส่หน้ากากป้องกันพิษ หรือรอฝนรอลม มาคลี่คลาย