คอลัมน์ ใบตองแห้ง

ประชามติ=ยกเลิก รธน. – ศาลรัฐธรรมนูญมีเซอร์ไพรส์ ไฟเขียวให้รัฐสภา “จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่” แต่ต้องให้ “ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ” ได้ลงประชามติเสียก่อน ว่าประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และเมื่อจัดทำเสร็จแล้ว ก็ต้องให้ประชาชนลงประชามติเห็นชอบอีกครั้งหนึ่ง

คำวินิจฉัยสั้นๆ โดยยังไม่มีใครเห็นฉบับเต็ม ทำให้เกิดความงุนงง ถกเถียงตีความคำวินิจฉัยของศาลกันอีกทอดหนึ่ง ในเบื้องต้น ก็งงกันว่า รัฐสภายังจะสามารถพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระสามหรือไม่ หรือต้องไปทำประชามติก่อน แล้วมาผ่านวาระสาม แล้วกลับไปทำประชามติอีกที ยกร่างเสร็จ แล้วทำประชามติอีก

บางคนก็เลยมองว่า การให้ทำประชามติ “ถามประชาชนก่อน” เปิดช่องให้ระบอบประยุทธ์ซื้อเวลา เสียงบฟรี กว่าจะเลือก ส.ส.ร.มาตีขิมอีกหลายปี

อย่างไรก็ดี ถ้าตีความคำวินิจฉัยนี้ในทางก้าวหน้า ก็คือศาลยอมรับว่าประชาชนเป็น “ผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ” (Pouvoir constituant) ดังนั้น การที่ศาลให้ไปทำประชามติว่า “ประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่” ก็ควรจะมีความหมายเท่ากับ “ต้องการยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2560 หรือไม่”

ซึ่งถ้าประชามติชนะ ก็จะมีความหมายเป็น Deconstitutionalise รัฐธรรมนูญ 2560 ยกเลิกรัฐธรรมนูญมีชัยโดยประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจสถาปนา โดยไม่ต้องรอรัฐประหารมาฉีก

อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ 2560 คืออำนาจรัฐประหาร ที่ได้มาโดยไม่ชอบธรรม ใช้อำนาจไม่ชอบธรรม ยัดเยียดให้ลงประชามติโดยไม่มีทางเลือก สร้างเงื่อนไขผูกมัดด้วยวิชามารจนไม่มีทางแก้ การทำประชามติอีกครั้งจึงควรจะมีความหมายว่า “ไม่เอาแล้วโว้ย รัฐธรรมนูญมีชัย เอาไปใช้เป็นทิชชูเถอะ” ไม่ใช่แค่พยักหน้าหงึกๆ ลองร่างใหม่ดูก่อนก็ได้

ดังนั้นถ้าทำประชามติ แล้วประชาชนบอกว่าต้องการฉบับใหม่ มันก็ต้องมีความหมายว่ารัฐธรรมนูญ 2560 ถูกยกเลิกไปแล้ว เพียงยังใช้เป็น “รัฐธรรมนูญชั่วคราว” จนกว่ารัฐธรรมนูญใหม่บังคับใช้

เหมือนครอบครัวลงมติสร้างบ้านใหม่บนพื้นที่เดิม ก็เท่ากับทุบบ้านเก่า แค่เอาโครงสร้างบางส่วนไว้อาศัยชั่วคราวรอบ้านใหม่เสร็จ

ดังนั้นการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ จึงต้องไม่ถูกตีกรอบโดยรัฐธรรมนูญฉบับเดิม ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่ “ถูกยกเลิกไปแล้ว”

อธิบายให้เห็นภาพ สมมติประชาชนลงประชามติล้นหลาม ชนะ 20 ต่อ 10 ล้าน ต้องการฉบับใหม่ (โว้ย) แล้วกระบวนการยกร่างยังจะต้องไปผ่านรัฐสภา ต้องให้ ส.ว. 1 ใน 3 หรือ 84 คนขึ้นไปเห็นด้วย ต้องห้ามแก้หมวดนั้นหมวดนี้ ถ้าจะแก้ต้องทำประชามติอีกที ฯลฯ หรือไม่

ในเมื่อศาลรัฐธรรมนูญบอกว่า ประชาชนมีอำนาจสถาปนา แล้วยังจะกลับมาอยู่ใต้ข้อจำกัดยิบย่อยได้อย่างไร

แม้แต่ตัวศาลเอง ก็ไม่ควรมีอำนาจเข้าไปวินิจฉัยร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เมื่อยกให้อำนาจสถาปนาไปแล้ว ถ้าห่วงนักก็ให้รัฐสภากำหนด 2 หลักสำคัญคือ “เป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกมิได้” กับ “ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” (ซึ่งไม่มีใครแก้หรอก)

ถ้าตีความตามคำวินิจฉัย ที่ศาลบอกว่ารัฐสภามีหน้าที่และอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ก็คือไฟเขียวทั้งฉบับ ไม่ได้บอกว่าต้องห้ามแก้หมวดไหนด้วยนะ

ดังนั้น ถ้ายึดหลักรัฐธรรมนูญ ประชาชนเป็นผู้มีอำนาจสถาปนา ถ้าประชามติบอกว่าต้องการรัฐธรรมนูญใหม่ กระบวนการยกร่างจะต้องเป็นอิสระ ปลอดภัยจากกลไกมารอัปลักษณ์ของรัฐธรรมนูญเดิม (ที่ประชามติยกเลิกไปแล้ว) จะมาตามรังควานไม่ได้

พูดง่ายๆคือไม่ต้องลงวาระสาม ไม่ต้องพึ่ง 84 ส.ว. ไปสู่การลงประชามติ “คว่ำรัฐธรรมนูญ คสช.” (แม้ยังมีข้อถกเถียงกันเรื่องอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งก็ใช่ ศาลไม่น่ามีอำนาจมาสั่งให้ลงประชามติ แต่ภายใต้รัฐธรรมนูญที่เต็มไปด้วยอัปลักษณะ การลงประชามติยกเลิก โยนทิ้งทั้งฉบับ น่าจะดีที่สุด)

แล้วทันทีที่ประชามติผ่าน รัฐสภาก็ควรจัดทำแค่กลไกการเลือก สสร. แล้วเนื้อหาทั้งหมดให้ สสร.ไปว่ากัน ร่างเสร็จไม่ต้องเอามาผ่านรัฐสภา ไปสู่ “อำนาจสถาปนา” โดยตรง

ถ้ามีประเด็นสำคัญถกเถียงกัน ก็อาจยกมารวมทำประชามติระหว่างยกร่างได้ เช่น อยากยุบศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ อยากให้มี ส.ว.อยู่ไหม ยุบ กกต.ซะดีไหม ชอบบัตรใบเดียวหรือสองใบ

อันที่จริง การทำประชามติ “ประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่” ยังสามารถตั้งคำถามพ่วง เช่น วิธีการได้มาซึ่ง สสร. เพื่อไม่ต้องให้ 250 ส.ว.มาตีรวนขัดขวาง รวมทั้งกำหนดหลักการเบื้องต้น เช่น ทำประชามติถาม ควรห้ามแก้หมวด 1 หมวด 2 หรือไม่ (ปัดโธ่ ถ้าประชามติบอกห้ามแก้ ม็อบสามนิ้วจะได้แพ้ไป)

พูดอย่างนี้ไม่ใช่มโน แม้ศาลอาจไม่คิดอย่างนี้ แต่การที่ท่านบอกว่า ประชาชนเป็นผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ และให้ประชาชนลงประชามติก่อน

เท่ากับผูกมัดไปแล้วว่าการลงประชามติ จะเป็นการยกเลิก จะเป็นการปฏิเสธ จะเป็นการฉีกทำลาย รัฐธรรมนูญรัฐประหาร เหลือไว้ทำเพิงชั่วคราวเท่านั้น

ถ้าทำประชามติในความหมายนี้ จะได้สู้กันในกติกา อย่าพลิกเป็นเกมโยกโย้ก็แล้วกัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน