วงล้อเศรษฐกิจ

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด

คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของไทย น่าจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 1.50% ต่อเนื่องในการประชุมรอบรองสุดท้ายของปีนี้ในวันที่ 8 พ.ย. 2560 โดยมีปัจจัยสนับสนุนดังนี้

พัฒนาการเศรษฐกิจไทยมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น ขณะที่เงินเฟ้อคงทยอยขยับเข้าใกล้เป้าหมายนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มากขึ้น ส่งผลให้ความจำเป็นในการดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายเพิ่มเติมมีน้อยลง

ขณะที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศที่ยังไม่เต็มที่ ยังเป็นปัจจัยสนับสนุนการคงระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.50% ต่อเนื่อง

ภาพรวมการขยายตัวทางเศรษฐกิจดีขึ้น แต่ยังไม่ทั่วถึงมากนัก ทั้งนี้ ปัจจัยที่สนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังคงได้รับแรงหนุนจากภาคต่างประเทศเป็นหลัก ทั้งการส่งออก ที่ขยายตัวได้ดี รวมทั้งภาคการท่องเที่ยว

ขณะที่เศรษฐกิจภายในประเทศทยอยฟื้นตัวอย่างช้าๆ ส่วนหนึ่งมาจากรายได้ภาคการเกษตรที่ยังหดตัวในไตรมาส 3/2560 นอกจากนี้ การว่างงานที่ขยับเพิ่มขึ้น อันบ่งชี้ถึงการกระจายตัวของการฟื้นตัวที่ยังไม่ทั่วถึง

อย่างไรก็ดี การบริโภคสินค้าคงทนกลับมาขยายตัวเร่งขึ้น อีกครั้ง การลงทุนที่สะท้อนจากการนำเข้าสินค้าทุนที่ขยายตัวติดต่อกันกว่า 4 เดือน และเครื่องชี้การลงทุนหมวดก่อสร้าง ปรับดีขึ้น อาจเป็นสัญญาณเชิงบวกต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้าที่คงมีความสมดุลมากขึ้น

โดยการลงทุนมีโอกาสที่จะฟื้นตัวต่อเนื่องจากแรงกระตุ้นของภาครัฐผ่านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ตลอดจนการ ผลักดันโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่คงมีความชัดเจนมากขึ้นในปี 2561

ด้วยภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่รักษาโมเมนตัมการฟื้นตัวต่อเนื่อง อีกทั้งการฟื้นตัวก็เริ่มมีสัญญาณที่กระจายตัวไปสู่ภาคเศรษฐกิจจริงมากขึ้น ทั้งนี้ สัญญาณการฟื้นตัวเศรษฐกิจที่ดีคงส่งผลให้โอกาสที่จะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายปรับลดลงไปมาก ขณะที่ภาพการฟื้นตัวที่ยังไม่แข็งแรงเต็มที่ยังเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ กนง.น่าจะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อไป

มองไปในระยะข้างหน้า ดอกเบี้ยนโยบายของไทยน่าจะทรงตัวในระดับปัจจุบันอีกระยะ โดย กนง.คงจะรอประเมิน ถึงพัฒนาการการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยอย่างใกล้ชิด รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่อาจเข้ามากระทบการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน