คอลัมน์ ใบตองแห้ง

ฝังแค้นคนรุ่นใหม่ – กระแสวิจารณ์ “กระบวนการยุติธรรม” ท่วมท้นล้นหลาม 7 แกนนำราษฎรไม่ได้ประกัน หลังเพนกวินอดอาหารมา 45 วัน ทั้งที่การประกันตัวเป็นสิทธิของผู้ต้องหา เว้นแต่เคยต้องคดีปล้นฆ่าแล้วทำซ้ำ เป็นผู้มีอิทธิพลไปทำลายพยานหลักฐาน หรือได้ประกันแล้วจะหนี

แต่ 112 กลับเป็นคดีพิเศษ แค่อัยการสั่งฟ้อง หรือแค่ตำรวจแจ้งข้อหา ก็ไม่ให้ประกัน เป็นความผิดร้ายแรงโดยไม่ต้องพิสูจน์ ไม่ต้องผ่านการพิจารณาคดี

ด้วยเหตุนี้ 112 จึงถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางทั้งในและต่างประเทศ โดยไม่ใช่แค่กระบวนการ แต่ประเทศต่างๆ อย่างอังกฤษ สวีเดน เนเธอร์แลนด์ ฯลฯ ญี่ปุ่น ไม่ใช้แล้ว หรือใช้แบบโทษเบามาก

จนกระทั่งประเทศไทยงดใช้ไปช่วงหนึ่ง แต่ประยุทธ์สั่งให้เอากลับมาใช้ใหม่

ซึ่งก็น่าจะเห็นแล้วว่าผลของการใช้เป็นอย่างไร มีผลกระทบอย่างหนักหน่วงรุนแรงเพียงไร

ถ้าลองเอาผิดคนโกรธแค้นวิพากษ์วิจารณ์ที่ล้นหลามเต็มหน้าเฟซ ก็จะยิ่งบานปลายไปใหญ่

112 ได้ผลหรือไม่ในแง่ปราบม็อบ มองจากพวกที่เชื่อว่า “ม็อบแผ่ว” ก็คงเชื่อว่าใช้โทษหนักใช้กำลังรุนแรงโดยตำรวจ ทำให้ม็อบฝ่อ แกนนำติดคุกทำให้ม็อบกลัว ซึ่งไม่ใช่เลยแม้อาจมีผลบ้างในแง่การแสดงออก แต่ม็อบ 25 มีนา ก็แสดงให้เห็นแล้วว่า การยืนหยัดเรียกร้องข้อ 3 ทำให้มวลชนเข้าร่วมจำนวนมาก

ม็อบราษฎรแค่ไปจนสุดแล้วเมื่อไม่บรรลุข้อเรียกร้อง ไม่รู้จะเดินต่ออย่างไร ก็หยุดเคลียร์ขบวนปรับทิศทาง ทำให้ดูอ่อนพลัง แต่ความคิดคนเข้าร่วมยังปักหลัก และยังแผ่ขยายไม่หยุด

ความกลัวใช้ไม่ได้ผลกับแกนนำ กับรุ่นสองรุ่นสามที่จะทยอยถูกส่งฟ้อง ซึ่งยังเคลื่อนไหวอย่างกล้าหาญ แม้อาจใช้ได้กับคนส่วนใหญ่ในประเทศ ที่หวาดผวาไม่กล้ายุ่ง แต่ใช้ไม่ได้กับคนรุ่นใหม่

ขณะเดียวกันถ้ารัฐบาลบริหารประเทศรุ่งเรือง กินดีอยู่ดีก็คงไม่มีเงื่อนไข แต่รัฐบาลประยุทธ์วันนี้ไม่ใช่แหงๆ โควิดรอบสาม บริหารจัดการพัง วัคซีนมาช้า คนเดือดคนด่าทุกหย่อมหญ้า เหลือแต่สลิ่มหน้ามืดตามัวขังตัวเองไว้ในกะลา คิดว่าฉิบหายอย่างไรก็ต้องปกป้องประยุทธ์ เพราะประยุทธ์เท่านั้นที่จะปกป้องชาติศาสน์กษัตริย์ไว้ได้

ปกป้องแบบยกทัพจับขนมอาลัว ศาสนาคงสูงส่งยิ่งใหญ่

นอกจากตัวระบอบเป็นเงื่อนไข ประยุทธ์ก็เป็นเงื่อนไข 250 ส.ว. เป็นเงื่อนไข ที่จะทำให้เกิดการลุกฮือไม่หยุดหย่อน แม้ยังล้มรัฐบาลไม่ได้ ก็กัดกร่อนทั้งระบอบ ให้เสื่อมไปด้วยกันแม้อำนาจยังใหญ่โตมหึมาไม่พังง่าย แต่ก็ตกต่ำสิ้นศรัทธาไปทั้งพวง

ไม่กี่วันก่อน ดร.นิด้า ตัวแทนอุลตรารอแยลลิสต์ ปลุกรัฐประหารโหด “กวาดล้างให้สิ้นซากไม่ให้เหลือขยะแผ่นดิน จำเป็นต้องโหด แบบ 6 ตุลาคม 19 ที่ทำให้กระบวนการฝ่ายซ้ายจัดกระเจิงไม่ผุดไม่เกิดมาเกือบ 30 ปี” แล้วเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็น “ระบอบราชาธิปไตยที่มีรัฐธรรมนูญ” ไม่จำเป็นต้องเป็นประชาธิปไตยแต่อย่างใดเลย

ข้อสังเกตแรก สะท้อนความกังวลว่าประยุทธ์จะไปไม่รอด ถ้าจะแพ้พวก “ล้มเจ้า ก็ต้องทำรัฐประหาร

ข้อสอง มองรวมข้อเขียนก่อน ที่เรียกร้องให้ประชาธิปัตย์เลิกต่อต้านเผด็จการทหาร เพราะเผด็จการทหารปกป้องสถาบัน ครั้งนี้ไปถึงขั้นไม่เอาประชาธิปไตย ให้เปลี่ยนระบอบไปเลย

ซึ่งเป็นอันตราย เป็นความคิดสวนทางรอแยลลิสต์ดั้งเดิมที่พยายามสถาปนา “ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” มาหลายสิบปี เปล่งบารมีจากเหตุการณ์เรียกร้องประชาธิปไตย 14 ตุลา พฤษภา 35

ข้อสาม เป็นความเข้าใจตื้นเขิน ว่า 6 ตุลาทำให้ฝ่ายซ้ายกระเจิดกระเจิงไม่ผุดไม่เกิด ความโหดร้าย 6 ตุลาทำให้นักศึกษาเข้าป่าหลายพัน พคท.โตพรวดพราด ถ้าไม่มีอะไรเปลี่ยน อาจชนะใน 5-10 ปีด้วยซ้ำ

แต่มีจุดเปลี่ยนทั้งสองด้าน อุดมการณ์เผด็จการสังคมนิยมล่มสลาย พคท.ขัดแย้งภายใน ฝ่ายรัฐก็ปรับตัว รัฐประหารล้มรัฐบาลหอย นิรโทษกรรมแกนนำนักศึกษา รีบมีรัฐธรรมนูญมีเลือกตั้ง กลับมาเป็นประชาธิปไตยครึ่งใบ แล้วออก 66/23

ไม่ใช่ชนะเพราะกวาดล้าง แต่ทำไปแล้วรู้จักปรับตัวหาจุดอยู่ร่วมกับสังคมอย่างลงตัว ซึ่งสมัยนั้นคือประชาธิปไตยครึ่งใบ (แต่สมัยนี้ใช้ไม่ได้แล้ว)

ถ้าเปรียบเทียบกัน อันที่จริง การใช้กำลังปราบม็อบ ใช้ 112 จับกุมคุมขัง ก็คือ 6 ตุลา 2519 ฉบับย่อมๆ แต่โลกปัจจุบันพลังต่อต้านไม่ได้เข้าป่า เข้าเฟซบุ๊กทวิตเตอร์คลับเฮาส์ เผยแพร่ความคิดกว้างขวาง รอวันปะทุ

ผู้มีอำนาจไม่ได้รู้ตัวเลย ว่าการกระทำกับแกนนำอย่างอำมหิต กำลังปลูกฝังความโกรธแค้นให้คนรุ่นใหม่ ในขณะที่ระบอบอำนาจก็หาจุดลงตัวกับประชาชนไม่ได้ มีแต่ความไม่พอใจปั่นป่วนไปหมด

นี่ไม่ใช่การปรับตัวแบบหลัง 6 ตุลา แต่จะนำไปสู่อะไร เหลือจะคาดเดา

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน