คอลัมน์ ทะลุคน ทะลวงข่าว

สภาพห่มเขียว-หนวดเฟิ้ม ‘ยันตระ’โผล่-พระกราบไหว้ ชาวพุทธตั้งคำถาม‘พศ.-มส.’

‘ยันตระ’โผล่-พระกราบไหว้ – อดีตพระยันตระอมโรภิกขุ หรือ นายวินัย ละอองสุวรรณ กลับมาสร้างความฮือฮาเฮฮาอีกครั้ง หลังจากหลบหนีความผิดทั้งทางโลกทางสงฆ์ไปเป็น ‘จิ้งเขียว’ อยู่ประเทศสหรัฐอเมริกาหลายสิบปี

อดีตพระดังผู้อื้อฉาวในวัย 70 ปีมาถึงประเทศไทยเมื่อกลางเดือนต.ค. ด้วยสภาพสวมกางเกงทรงจีน ห่มเขียว หนวดเคราเฟิ้ม

ตลอดเวลาที่อยู่ประเทศไทย ยันตระพำนักตามสถานที่ต่างๆ ของลูกศิษย์ รวมถึงสำนักสงฆ์เกพลิตาโพธิวิหาร ต.หนองบอน อ.เมือง จ.สระแก้ว

ยันตระให้สัมภาษณ์ยืนยันตนเองยัง เป็นพระ กลับมาเมืองไทยครั้งนี้เพราะเป็นช่วงวันเกิดครบ 70 ปี รู้สึกคิดถึงแผ่นดินเกิด คิดถึงญาติโยม โดยเฉพาะลูกศิษย์เก่าๆ ที่แยกย้ายไปอยู่ตามวัด หรือสำนักต่างๆ หลายพื้นที่ จึงมาพบปะกับลูกศิษย์

ตลอดเวลาที่พูด ยันตระแทนตัวเองว่า “อาตมา”

ก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางของประชาชน ต่อพฤติกรรมของผู้ที่ขาดจากการเป็นพระไปแล้วเพราะต้องโทษร้ายแรงระดับปาราชิก

ตั้งคำถามไปยังสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) กับมหาเถรสมาคม (มส.) ที่มีหน้าที่ดูแลพระพุทธศาสนาและคณะสงฆ์ ปล่อยให้อลัชชีกระทำการท้าทายพระพุทธศาสนาได้อย่างไร รวมทั้งจะดำเนินการอย่างไรกับพระสงฆ์แม่ชีที่กราบไหว้อลัชชี

ล่าสุดยังมีคลิป ยันตระนำพระและชี เต้นกายบริหาร เล่นท่านกกวัก ท่าลิงดีใจ อย่างสนุกสนานทางโซเชี่ยล

ชาวพุทธจึงอยากเห็น พศ.กับมส. ดำเนินการอย่างจริงจังเหมือนที่เอาจริงเอาจังกับ 2 พส. ก่อนหน้านี้

ย้อนกลับไป 27 ปีที่แล้ว วงการสงฆ์เกิดเรื่องใหญ่ร้ายแรง

เมื่อยันตระ พระผู้เป็นที่เคารพนับถือ ลูกศิษย์มากมายหลายวงการ ถูกกล่าวหาล่วงละเมิดสีกา นำไปสู่คดีความ ในที่สุดต้องพ้นจากความเป็นพระ และออกไปนอกประเทศ

ยันตระมีชื่อ-นามสกุลว่า วินัย ละอองสุวรรณ พื้นเพเป็นชาวปากพนัง นครศรี ธรรมราช

เกิด 14 ต.ค. 2494 อายุ 70 ปี เคยปฏิบัติตนเป็นฤๅษี

อุปสมบทที่วัดรัตนาราม อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช เมื่อปี 2517 แทนตัวเองว่า พระยันตระ แปลว่า ผู้ไกลจากกิเลส

เดินสายสอนธรรมะ อาศัยรูปงาม คารมเพราะ จนมีลูกศิษย์จำนวนมาก ทั้งชาวไทยและต่างชาติ

กลายเป็นพระซูเปอร์สตาร์ขณะนั้น

ปี 2537 สีกากลุ่มหนึ่ง ทำหนังสือร้องเรียนขึ้นทูลสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก วัดบวรนิเวศ

รวมทั้งร้องเรียนโดยตรงไปยังอธิบดีกรมการศาสนาขณะนั้น ถึงการปฏิบัติตัวไม่เหมาะสมกับความเป็นพระ

หนังสือพิมพ์ข่าวสด ฉบับวันที่ 16 ม.ค.2537 รายงานข่าวใหญ่หน้าหนึ่ง

จากนั้นรายงานข่าว นำเสนอเรื่องราวชนิดเกาะติด ขุดคุ้ยพยานหลักฐานต่างๆ ตีแผ่พฤติกรรมพระจอมลวงโลก

จนถึงฉบับวันที่ 1 เม.ย. 2538 อันเป็นบทอวสาน

ช่วงปี 2537 ที่ข่าวสดเปิดโปงยันตระนั้น เป็นยุคยังเป็นพระรูปงามชื่อเสียงโด่งดัง ลูกศิษย์ลูกหาเต็มบ้านเต็มเมือง

แต่เมื่อติดตามข้อมูลจนได้พยานหลักฐานชัดเจนมากมาย ก็ใช้ความจริงอันเป็นอาวุธหลักของสื่อมวลชน นำเสนอต่อสังคม

ด้วยเป้าหมายสำคัญคือปกป้องพระพุทธศาสนาให้ผุดผ่อง

ท่ามกลางความโกรธแค้นไม่พึงพอใจจากศิษย์ที่ยังหลงไม่ลืมหูลืมตาอย่างกว้างขวาง

ระดับรัฐมนตรีที่มีส่วนรับผิดชอบ ปกป้องยันตระ ด้วยความเป็นท้องถิ่นนิยม

แต่ไม่อาจหยุดการขุดคุ้ยของข่าวสด เปิดพยานหลักฐานยืนยันมากมาย ทั้งตัวบุคคล ภาพถ่าย ไปจนถึงสลิปที่ใช้รูดการ์ดในสถานเริงโลกีย์ในต่างประเทศ

สุดท้ายความจริงปรากฏต่อสายตาคนส่วนใหญ่ของสังคม ศรัทธาอดีตพระยันตระเริ่มลดฮวบ กระทั่งศิษย์เอกศิษย์ใกล้ชิดก็เริ่มออกมาร่วมเปิดโปง

ทำให้รัฐบาล องค์กรสงฆ์ ต้องเข้ามาสอบสวน

จนมีมติสำคัญของมหาเถรสมาคม คือให้มีการเจาะเลือดตรวจดีเอ็นเอ เพื่อพิสูจน์ข้อกล่าวหาล่วงละเมิดสีกาจนมีลูก

แต่ยันตระที่ตอนหลังกลายเป็นฉายา ‘ยันดะ’ ไม่ยอมปฏิบัติตามมติ

แล้วหลบเลี่ยงด้วยการนุ่งห่มเขียว ก่อนเร้นกายหายไป

ปี 2537 นั้น ข่าวสดยังเจาะข่าวระดับพูลิตเซอร์ คือ เปิดโปงขบวนการอุ้มฆ่า 2 แม่ลูกศรีธนะขัณฑ์

จนเป็นหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ของประเทศภายในเวลาแค่ 3 ปี และมากด้วยความเชื่อถือมาจนบัดนี้

ยันตระหลบหนีออกนอกประเทศ ไปอยู่สหรัฐอเมริกากระทั่งได้รับสถานะผู้ลี้ภัย

20 ปีต่อมากลับมาปรากฏตัวที่ประเทศ ไทย เมื่อคดีหมดอายุความในเดือนเม.ย. 2557

ต.ค.2564 โผล่เมืองไทยอีกครั้งเพื่อฉลองวันเกิด 70 ปี ก่อนกลับสหรัฐเมื่อ 27 ต.ค.ที่ผ่านมา

สังคมทั่วไปและชาวพุทธตั้งคำถาม สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) และมหาเถรสมาคม (มส.) ไม่เร่งจัดการอดีตพระยันตระ หลังมีพระสงฆ์กราบไหว้ และมีพระสงฆ์-ชี ร่วมแสดงออกไม่เหมาะสม

โดยเปรียบเทียบกรณี 2 พส. พระมหาไพรวัลย์และพระมหาสมปอง ไลฟ์สดสอนธรรมะ กลับถูกกดดันอย่างหนักจากองค์กรทั้งสอง

ล่าสุด พศ. ออกมายืนยัน พระกราบฆราวาสไม่ได้

แม้พระที่ปรากฏเป็นข่าวจะไม่ใช่ พระสงฆ์ภายใต้ปกครอง จ.สระแก้ว แต่เป็นพระสงฆ์ของสำนักสงฆ์แห่งหนึ่งใน จ.กาญจนบุรี ซึ่งพศ.จึงจะตรวจสอบและดำเนินการทางวินัยต่อไป

สิปป์บวร แก้วงาม

รอง ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ รักษาราชการแทน ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

เกิด 10 พ.ย.2504 ที่ จ.กระบี่

จบการศึกษาครุศาสตรบัณฑิต วิทยาลัยครูยะลา และศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

รับราชการกระทรวงศึกษาธิการ ปี 2547 โอนย้ายมาสังกัดสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

ผ่านตำแหน่ง ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดกระบี่, นนทบุรี, มหาสารคาม สุราษฎร์ธานี, สระบุรี, ชลบุรี, พระนครศรี อยุธยา และกาญจนบุรี

เข้ามาส่วนกลาง เป็น ผอ.สำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม, ผู้ตรวจราชการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

โฆษกสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

2 ส.ค.2564 ขยับขึ้น รองผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

1 ต.ค.ที่ผ่านมา รักษาราชการแทน ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

เกษียณอายุราชการ 30 ก.ย.2565

สมบัติ พิมพ์สอน

ผอ.สำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม

จบการศึกษาพุทธศาสตรบัณฑิต (พธ.บ.) รุ่น 41 คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

ทำงานที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เติบโตตามลำดับ เป็น ผอ.กลุ่มการศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกธรรมบาลี กองพุทธศาสนศึกษา

ออกไปเป็น ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนา จังหวัดอุดรธานี, นครนายก, หนองบัวลำภู

1 ก.ค.2564 ดำรงตำแหน่ง ผอ.สำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน