วงล้อเศรษฐกิจ

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด

ตลาดรถยนต์ในประเทศของไทยในปี 2560 ได้พลิกฟื้นกลับขึ้นมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี หลังหดตัวต่อเนื่องกันมาถึง 4 ปี โดยแรงหนุนสำคัญน่าจะมาจากกำลังซื้อของประชาชนที่ฟื้นคืน และการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ที่ตรงใจผู้บริโภคที่ออกมาอย่างต่อเนื่อง

ในปี 2561 ตลาดรถยนต์มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องโดยเฉพาะในหมวดรถยนต์นั่ง ซึ่งจะมีการเปิดตัวใหม่ออกมาอีกหลายรุ่น และกำลังซื้อของผู้บริโภคไม่ได้รับผลกระทบนัก ซึ่งคาดว่าตลาดรถยนต์รวมปี 2561 น่าจะสามารถทำตัวเลขยอดขายได้กว่า 880,000-900,000 คัน หรือ คาดว่าจะขยายตัว 2-5% เมื่อเทียบกับปี 2560

โดยตลาดรถยนต์มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง จากสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจของไทยในปี 2561 มีแนวโน้มที่เอื้อประโยชน์ต่อการขยายตัวของตลาดรถยนต์นั่งในประเทศมากกว่ารถเพื่อการพาณิชย์ที่ได้รับแรงกดดันจากระดับราคาสินค้าเกษตรที่จะยังคงอยู่ในระดับต่ำ จึงมีมุมมองต่อตลาดรถยนต์นั่งปี 2561 ว่าน่าจะมีโอกาสขยายตัวได้สูงกว่ารถเพื่อการพาณิชย์ โดยคาดว่ารถยนต์นั่งน่าจะทำยอดขายได้ที่ประมาณ 400,000-410,000 คัน หรือขยายตัว 3-5% เมื่อเทียบกับปี 2560

โดยประเภทรถที่มองว่าจะได้รับการตอบรับที่ดีจากตลาดน่าจะอยู่ในกลุ่มรถยนต์นั่งขนาดเล็ก และรถยนต์นั่งอเนกประสงค์ ขณะที่รถยนต์ที่มีระบบขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า จะเป็นรถยนต์อีกประเภทที่จะมีลูกเล่นการแข่งขันที่มากขึ้นในปี 2561

ขณะที่รถเพื่อการพาณิชย์คาดว่าจะมียอดขายที่ประมาณ 480,000-490,000 คัน หรือขยายตัว 2-4% เมื่อเทียบกับปี 2560 โดยรถปิกอัพ 4 ประตู จะยังคงเป็นประเภทรถที่มีโอกาสขยายตัวได้ดีกว่ารถประเภทอื่นๆ เช่นเดียวกันกับปี 2560

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ปี 2561 รถยนต์พลังงานไฟฟ้าจะเข้ามารุกตลาดมากขึ้น โดยมองว่ายอดขายรถยนต์ที่มีระบบขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าปี 2561 น่าจะมีโอกาสเติบโตค่อนข้างมากและทำยอดขายรวมได้ไม่ต่ำกว่า 30,000 คัน หรือขยายตัวมากกว่า 1.7 เท่า จากปี 2560 ที่คาดว่าจะมียอดขายรวม 11,200 คัน

โดยรถยนต์ไฮบริด และรถยนต์อี-เพาเวอร์ จะถือครองสัดส่วนไม่ต่ำกว่า 2 ใน 3 ของตลาดรวมรถยนต์ที่มีระบบขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า ตามมาด้วยรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริดและรถพลังงานไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ ตามลำดับ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน