“สมิงสามผลัด”

กําลังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันตอนนี้ หลังกรมราชทัณฑ์ประหารนักโทษชายอายุ 26 ปี จำเลยคดีฆ่านักเรียนชั้น ม.5 ด้วยการใช้มีดจ้วงแทง 24 แผลเพื่อชิงทรัพย์ เหตุเกิดเมื่อวันที่ 17 ก.ค.2555 ที่จ.ตรัง

การประหารครั้งนี้ใช้วิธีฉีดสารพิษ เป็นการประหารครั้งแรกในรอบ 9 ปี และนักโทษรายนี้เป็นรายที่ 7 ที่ถูกประหารด้วยการฉีดยาพิษแทนการ “ยิงเป้า”

จะว่าไปแล้วนับตั้งแต่ปี 2478 ถึงปัจจุบันนักโทษ 325 รายถูกประหารชีวิต แยกเป็นยิงเป้า 319 ราย และฉีดสารพิษ 6 ราย

ส่วนที่เกิดดราม่าประหารกันขึ้น ก็เพราะองค์การนิรโทษกรรมสากล (Amnesty International) ออกมาประณามโทษประหารชีวิตครั้งนี้ และเชิญชวนทุกคนที่มีจุดยืนด้านสิทธิมนุษยชน ร่วมไว้ อาลัยแด่การตัดสินโทษประหารชีวิตครั้งนี้

ขณะเดียวกัน สังคมออนไลน์ของไทยเองกลับสวนกระแส เรียกร้องให้ประหารชีวิตนักโทษที่ก่ออาชญากรรมรุนแรง มีดารานักแสดงก็ออกมาผสมโรงให้ประหารกันกระหึ่ม

ส่วนท่าทีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ว่า เป็นกฎหมาย (โทษประหาร)ของเราที่ยังคงมีอยู่ เพราะเสียงประชาชนส่วนใหญ่มีความเห็นว่าเห็นควรให้มีอยู่ ปัจจุบันมีคดีร้ายแรงหลายๆ คดีเกิดขึ้น การมีโทษประหารก็เพื่อทำให้บ้านเมืองสงบสุข และเพื่อเป็นบทเรียนสอนใจ ซึ่งเป็นเรื่องความจำเป็นของเรา และความต้องการของประชาชน

แต่นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ซึ่งเคยเสนอรัฐบาลให้ยกเลิกโทษประหารชีวิต ระบุว่า กสม.ได้เสนอทางเลือกให้ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายในความผิดฐานประเภทที่ประหารชีวิตอย่างเดียว ก็ให้ปรับปรุงมีโทษประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิต เพื่อเปิดโอกาสให้ศาลมีดุลพินิจ หรือเรียกว่าให้ศาลมีทางเลือก อีกทั้งเราเสนอให้ครอบครัว ชุมชนมามีบทบาทดูแลเยาวชน และให้มีการพัฒนาวิธีการบำบัดฟื้นฟูสุขภาพกายและใจของผู้ที่กระทำความผิดและครอบครัวด้วย

ที่สำคัญมีงานวิจัยทั่วโลกพิสูจน์แล้วว่าโทษประหารไม่ได้ทำให้อาชญากรรมลดลง ไม่ได้ทำให้บ้านเมืองสงบสุขขึ้น

ในทางกลับกัน โทษประหารอาจทำให้เกิดการฆาตกรรมขึ้น เพราะหากผู้กระทำผิดรู้ว่าเมื่อถูกจับได้จะโดนโทษประหารชีวิต อาจฆ่าเหยื่อเพื่อปิดปากด้วย

ก็เป็นเรื่องที่ครม.ต้องทบทวน

เพราะสิทธิมนุษยชนคือ การเคารพสิทธิในการมีชีวิตอยู่ การไม่ทำลายชีวิต

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน