“รุก กลางกระดาน”

นับเป็นปฏิบัติการครั้งประวัติศาสตร์ สำหรับการทุ่มเทสรรพกำลังเข้าช่วยเหลือนักฟุตบอลเยาวชน หมูป่า อคาเดมี ที่สูญหายขณะเข้าไปเที่ยว ภายในถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน อ.แม่สาย จ.เชียงราย

ทั้งทหาร ฝ่ายปกครอง เจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่กู้ภัย รวมทั้งความช่วยเหลือจากต่างประเทศ และจิตอาสาของคนในประเทศไทย

ตลอดจนกำลังใจที่คนทั้งประเทศมอบให้เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติภารกิจ และส่งถึง 13 ชีวิต ที่เป็นผู้ประสบภัย

ถือเป็นสิ่งที่น่าชื่นชมยินดี และเป็นการแสดงให้เห็นว่าอย่างน้อยสังคมนี้ก็ยังมีความน่าอยู่

อย่างไรก็ตาม หากยกเรื่องจิตใจปรารถนาดีที่แต่ละฝ่ายมอบให้ปฏิบัติการครั้งนี้ ก็ยังคงมีปัญหาที่ควรพูดถึง เพื่อเก็บไว้เป็นบทเรียนในอนาคต

นั่นก็คือความพร้อมในการรับมือกับภัยพิบัติ ที่ดูเหมือนจะต้องได้รับการปรับปรุงอย่างเร่งด่วน

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเป็นเอกภาพในการปฏิบัติการวางแผน รวมทั้งองค์ความรู้เกี่ยวกับภูมิประเทศ พื้นที่ที่ยังมีข้อจำกัด

ดังที่จะเห็นได้ว่าในวันแรกๆ ก่อนที่ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการจะตั้งหลักได้ ทุกอย่างดูชุลมุนสับสน

บรรดา ‘นายๆ’ ที่พากันพาเหรดเยี่ยมพื้นที่ แต่ละคนก็มีไอเดียคนละอย่าง สั่งการกันคนละที จนผู้ปฏิบัติต้องก่ายหน้าผาก ไม่รู้จะทำตามใครกันดี

ไม่นับว่าจะต้องจัดกำลังมาช่วยเหลือดูแลต้อนรับ

เพราะไอ้ที่บอก ‘มาไม่รับต้องรับ กลับไม่ต้องส่ง’ ในแวดวงราชการเขารู้กันดีว่าเป็นคำพูดออกตัวให้ดูดีเท่านั้น

ลองทำจริงโกรธกันตาย แต่งตั้งโยกย้ายครั้งหน้าโดนดีแน่นอน

ดีที่หลังๆ คนที่ทำหน้าที่บัญชาการในพื้นที่ตั้งหลักได้ ก็ทำให้งานคืบหน้าไปได้

แต่ก็ไม่พ้นที่ต้องเจอดราม่าต่างๆ ที่เกิดจากความไม่เข้าใจกติกาของการทำงาน และการอยู่ร่วมกัน

รวมทั้งข้อมูลข่าวสารที่ไปเร็วเกินกว่าจะควบคุม ทำให้มีทั้งจริงบ้าง เท็จบ้าง

นับเป็นสิ่งที่ต้องเรียนรู้ และพัฒนาขีดความสามารถด้านการรับมือกับภัยพิบัติ

เพื่ออนาคตข้างหน้าจะได้ไม่เกิดเหตุซ้ำรอยขึ้นอีก

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน