“มันฯ มือเสือ”

เป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในขณะนี้

กรณีคอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์จาการ์ตาโพสต์ ของอินโดนีเซีย แสดงความคิดเห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯของไทยไม่เหมาะสมกับเก้าอี้ประธานอาเซียน

เนื่องจากเป็นผู้นำเผด็จการทหาร

เรื่องนี้คนกลุ่มหนึ่งมีทั้งคอลัมนิสต์ที่สนับสนุนรัฐบาลทหาร กองเชียร์คสช. รวมถึงคนในรัฐบาลคสช.เอง พยายามจะบอกต่อสังคมว่า

มีการจ้างวานให้สื่ออินโดนีเซียเขียนดิสเครดิตนายกรัฐมนตรีไทย

นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.การต่างประเทศ พูดชัดเลยว่า ข่าวที่ปรากฏไม่ทราบใครวานใครมา ใครจ้างใครมาเขียน กำลังตรวจสอบอยู่ ทั้งยังมีรายงานด้วยว่า

คนเขียนไม่ใช่เจ้าของนามปากกาที่ปรากฏ แต่เป็นอีกคนที่ไปขอใช้ชื่อ

คอลัมนิสต์บางคนก็จับแพะชนแกะ โยงไปว่าสื่อสเตรทไทม์ของสิงคโปร์ ก็มีส่วนรู้เห็น เพราะนำบทความดังกล่าวในจาการ์ตาโพสต์ไปลงซ้ำ

ก่อนวกเข้าหาขบวนการ “ไพร่แดง” ในต่างประเทศ

ส่วนพล.อ.ประยุทธ์นั้น ถึงกับแสดงอารมณ์หงุดหงิดเมื่อสื่อมวลชนไทยยกเรื่องนี้ขึ้นมาซักถามเมื่อวันก่อน โดยมองว่าสื่อที่ตั้งคำถามเรื่องนี้

ต้องการสร้างความขัดแย้งใหม่ขึ้นมา

สุดท้ายแล้วเรื่องนี้จะลงเอยอย่างไร ผู้นำรัฐบาลทหารของไทยจะได้ขึ้นเป็นประธานอาเซียนหรือไม่ ยังไม่มีใครทราบได้

เพียงแต่เรื่องนี้มีตัวอย่างให้เทียบเคียง

ย้อนไปเมื่อปี 2549 ถึงคิวเมียนมาต้องขึ้นเป็นประธานอาเซียน

ชาติสมาชิกต่างถกเถียงกันว่า ผู้นำรัฐบาลทหารจากการยึดอำนาจ ไม่เหมาะขึ้นนั่งเก้าอี้ประธานอาเซียน

สุดท้ายแล้ว พล.อ.ตาน ฉ่วย ผู้นำรัฐบาลทหารพม่าขณะนั้นก็ไม่ได้ขึ้น ตำแหน่งประธานอาเซียนข้ามไปตกที่ผู้นำฟิลิปปินส์

บรรทัดฐานเรื่องนี้จึงมีอยู่จริง ไม่ใช่จับแพะชนแกะ มั่วซั่ว

แต่งนิทานขึ้นมาเชลียร์ผู้มีอำนาจเหมือนบางคน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน