คอลัมน์ ทิ้งหมัดเข้ามุม

รุก กลางกระดาน

เป็นข่าวใหญ่อีกข่าว เมื่อสนช.ที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหาร ก็อนุมัติให้กองทัพเรือจัดซื้อเรือดำน้ำจากจีนจนได้

โดยใช้งบประมาณที่มาจากภาษี ประชาชน 13,500 ล้านบาท

เตรียมจัดซื้อลำแรกภายในปี 2560 นี้

ซึ่งพล.ร.อ.จุมพล ลุมพิกานนท์ โฆษกกองทัพเรือ ยอมรับว่าเป็นราคาต่อลำ แพงกว่าการซื้อเหมาจ่าย 3 ลำ 36,000 ล้านบาท

แต่ก็จำต้องซื้อเท่าที่งบประมาณอนุมัติ ซึ่งเป็นราคาแพ็กเกจ รวมระบบ อาวุธการฝึก

ซึ่งต้องใช้เวลาต่อเรืออีก 6 ปี ถึงจะได้เอามาใช้

ขณะที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและรมว.กลาโหม ระบุว่าจะซื้อ 1 ลำก่อน และก่อหนี้ผูกพันเพื่อซื้ออีก 2 ลำ

ยืนยันว่าจำเป็น เพราะประเทศเพื่อนบ้านมีกันหมด!??

แม้ผู้ใหญ่ในรัฐบาลและกองทัพจะพูดไปในทิศทางเดียวกันถึงความจำเป็นนานาประการ

แต่ก็ดูว่าสังคมจะไม่ได้เห็นไปในทิศทางเดียวกันนี้

ซึ่งก็พอเข้าใจได้ถึงบทเรียนการซื้ออาวุธที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นเรือเหาะภาคใต้ ที่ปลดประจำการไปแล้ว โดยไม่มีผลอะไรจริงจัง

รถเกราะล้อยางจากยูเครน เครื่องบินขับไล่กริพเพน ก็ยังข้องใจเกี่ยวกับประสิทธิภาพ ศักยภาพ

ก็ไม่รู้ต้องสูญเสียเงินไปเท่าไหร่กับคำว่า “ความจำเป็น”

หรือแม้กระทั่งกรณีจีที 200 ที่ศาลอังกฤษสั่งจำคุกบริษัทผู้ผลิตฐานฉ้อโกง แต่ในเมืองไทย ที่เป็นลูกค้ารายใหญ่ กลับไม่แสดงท่าทีอันใดเลยกับหน่วยงานที่จัดซื้อของบุโรทั่งพวกนี้มาในราคาแพงแสนแพง

พอมาถึงครั้งเรือดำน้ำเมดอินไชน่า จึงไม่แปลกที่จะให้เกิดความกังวล

นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องความคุ้มค่าในการใช้เงินภาษีอากรของประชาชนในทิศทางต่างๆ

แม้ด้านการพัฒนาป้องกันประเทศจะมีความสำคัญ

แต่เรื่องการแก้ไขปัญหามูลฐานของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นระบบการขนส่งมวลชน การบริหารจัดการน้ำ ก็สำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน

จะให้ประชาชนที่เดือดร้อนจากน้ำท่วม นั่งดูรัฐบาลออกทีวี หาเงินบริจาคหลักร้อยล้าน

ทั้งที่ภาษีของพวกเขาเหล่านั้นเป็น หมื่นล้าน เอาไปซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์

มันก็ตลกร้ายเกินไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน