คอลัมน์ ทิ้งหมัดเข้ามุม

รุก กลางกระดาน

น่าศึกษาอย่างยิ่งสำหรับมุมมองทางกฎหมาย ในกรณีอัยการญี่ปุ่นไม่สั่งฟ้องนายสุภัฒ สงวนดีกุล รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ที่ก่อเหตุฉาวโฉ่ด้วยการขโมยภาพวาดจากโรงแรม ประเทศญี่ปุ่น

แม้ส่วนหนึ่งจะเกิดจากการประสานงานจากกระทรวงการต่างประเทศ ที่ช่วยเจรจาจนเจ้าทุกข์ยอมความ

ภายใต้เงื่อนไขการจ่ายเงินชดใช้ และขอโทษกับกรณีที่เกิดขึ้น

แต่ก็ควรพิจารณาถึงข้อกฎหมายให้ชัดเจน ว่าเหตุใดจึงเป็นเหตุอันควรที่อัยการสั่งไม่ฟ้อง

ไม่เช่นนั้นก็อาจจะเข้าใจผิดว่ารัฐบาลไทยเข้าไปแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมของต่างชาติ และใช้ทรัพยากรของประเทศไปช่วยเหลือผู้ต้องหาเพียงคนเดียว

จึงควรอย่างยิ่งที่จะพิจารณาข้อสังเกตของนายธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด

ที่ระบุว่าหลักการฟ้องคดีอาญาของประเทศญี่ปุ่น พิจารณาโดยใช้ดุลพินิจ มีอิสระในการสั่งคดี มีอำนาจใช้ดุลพินิจ ไม่ฟ้องคดีบางคดีได้ แม้มีหลักฐานพอเชื่อว่าผู้ต้องหากระทำผิดจริง

ซึ่งแตกต่างหลักการฟ้องคดีโดยกฎหมาย

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการแทนการฟ้องคดีอาญา ที่สอดคล้องกับทฤษฎีอาชญวิทยาสมัยใหม่

ที่ไม่ต้องการลงโทษคนผิดทุกคน แต่ให้โอกาสผู้กระทำความผิดปรับปรุงแก้ไขความประพฤติ กลับคืนสู่สังคม โดยไม่ถูกตีตราว่าเป็นนักโทษ

คนทำผิดไม่ใช่พวก ‘ใจบาปสันดานทราม’ มาแต่กำเนิด

ซึ่งถือว่าเป็นแนวคิดที่น่าสนับสนุน ดูเป็นเยี่ยงอย่าง และนำมาปรับใช้

เพื่อแสดงให้เห็นถึงมาตรฐานการบังคับใช้กฎหมาย ที่ทัดเทียมโลกอารยะ

เมื่อพิจารณากรณีรองอธิบดีสุภัฒ แล้วก็อดมองถึงคดี‘ไผ่ ดาวดิน’ ที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ จนไม่ได้เข้าสอบตัวสุดท้ายที่จะทำให้จบการศึกษา

ทั้งที่สิ่งที่ทำลงไปเพียงแค่โพสต์และแชร์ในเฟซบุ๊ก

เรื่องคดีก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่เมื่อไม่ใช่คดีอาชญากรรมรุนแรง

สิทธิ์ประกันตัวเพื่อต่อสู้คดีจึงเป็นประเด็นที่องค์กรสิทธิมนุษยชนทั่วโลก เรียกร้อง

สิ่งเหล่านี้ต่างหากที่คนนำมาเปรียบเทียบ

เพื่อจำกัดความคำว่า ‘ยุติธรรม’

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน