คอลัมน์ ทิ้งหมัดเข้ามุม

รุก กลางกระดาน

ไม่ใช่เรื่องปกติเลย สำหรับกรณีที่เว็บไซต์ไอลอว์ ออกมาเปิดเผยข้อมูลว่ามีสมาชิกสนช.อย่างน้อย 7 คน ที่อาจเข้าข่ายสิ้นสุดสมาชิกภาพ

เนื่องจากไม่ได้ลงมติในที่ประชุมเกินกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนการลงมติภายในกรอบระยะเวลา 90 วัน ตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับการประชุมสนช. ข้อที่ 82

ประกอบด้วย พล.ร.อ.พัลลภ ตมิศานนท์ อดีตเสธ.ทร. นายสมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ ผอ.สำนักงบประมาณ นายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการกฤษฎีกา

นายสุพันธ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมฯ พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา อดีตปลัดฯ กลาโหม พล.อ.อ.จอม รุ่งสว่าง ผบ.ทอ. และพล.ร.อ.ณะ อารีนิจ ผบ.ทร

แม้ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. จะออกมายืนยันชัดเจนว่าทั้ง 7 คนไม่มีปัญหาอะไร

เพราะทั้งหมดได้ยื่นหนังสือลาถูกต้อง

แต่ก็ไม่ทำให้สังคมคลายความสงสัยหรือสิ้นกังวล

เนื่องจากเมื่อดูข้อมูลโดยละเอียดแล้ว บุคคลสำคัญ อาทิ พล.อ.ปรีชาที่เป็นปลัดกระทรวงกลาโหม และเป็นน้องชายของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้าร่วมลงมติตั้งแต่ 1 ม.ค.-29 มิ.ย. 2559 รวมเวลา 180 วันหรือครึ่งปี

สนช.มีการลงมติไป 453 ครั้ง แต่พล.อ.ปรีชาร่วมลงมติเพียง 6 ครั้ง

จริงๆ แล้วก็เข้าใจว่าในฐานะปลัดกระทรวง ย่อมต้องมีภารกิจรับผิดชอบดูแล จนไม่อาจเจียดเวลาร่วมประชุมได้

แต่จะปล่อยผ่านไปเลยก็คงจะกระไรอยู่ เพราะบุคคลทั้งหมดนี้นอกจากรับจากต้นสังกัดเดิม

ยังรับจากสนช.เต็มจำนวน ไม่ได้แบ่งส่วนตามวันเวลาที่มาทำงาน

แต่ละคนได้รับเงินเน็ตๆ เดือนละ 113,560 บาท ไม่รวมเบี้ยประชุมต่างๆ อีกมากมาย

จึงกลายเป็นคำถามว่า ควรหรือไม่ที่บุคคลที่เข้ามารับตำแหน่งหน้าที่จะต้องทำงานให้คุ้มกับเงินเดือนที่มาจากภาษีของประชาชน

หากไม่สามารถทำได้ ก็ควรจะพิจารณาตัวเองเสีย

อย่าให้คนเข้าใจผิด คิดว่าได้รับตำแหน่ง-เงินเดือน เพื่อเป็นผลตอบแทนใดๆ

เพราะแม้ไม่จริง แต่เมื่อเกิดข้อครหาก็ไม่เป็นผลดีใดๆ

ทั้งกับรัฐบาลและคสช.

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน