นับหนึ่งแก้ไขรธน. ความยากอยู่ที่ใคร?

คอลัมน์ ทิ้งหมัดเข้ามุม

มันฯ มือเสือ

ทิ้งหมัดเข้ามุม – การเมืองจากนี้ไปถึงก่อนสิ้นปีน่าจะร้อนแรง ด้วยเรื่องหลักๆ 2 เรื่อง

เรื่องแรกคือ ญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลที่พรรคฝ่ายค้านล็อกเป้า วันไว้ 18-20 ธ.ค.

กับอีกเรื่องใหญ่และสำคัญของสภาคือ การพิจารณาญัตติด่วนตั้งกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2560 ของหลายพรรคการเมืองทั้งในฝั่งรัฐบาลและฝ่ายค้าน

ญัตติด่วนนี้ในเบื้องต้นคาดว่า จะลงเอยด้วยการตั้งกมธ.จำนวน 49 คน แบ่งเป็นสัดส่วนครม. 12 คน พรรคร่วมรัฐบาล 18 คน และพรรคร่วมฝ่ายค้าน 19 คน

พรรคเพื่อไทยแกนนำฝ่ายค้านระบุให้การที่สภาจะนำวาระตั้งกมธ.ศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาพิจารณา ถือเป็นการเริ่มต้นนับหนึ่งแก้ไขรัฐธรรมนูญ

สมควรที่พรรคฝ่ายค้านและรัฐบาลจะยึดประโยชน์ประชาชนเป็นเป้าหมายสูงสุด

ร่วมกันทำให้เป็นวาระสำคัญของชาติ สร้างบรรยากาศความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายประชาชนในสังคม มุ่งปลดล็อกหาทางออกให้ประเทศ ลดอคติการแบ่งฝักฝ่าย ลดการสร้างเงื่อนไขต่างๆ

ดังนั้น การที่ประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาล แสดงท่าทีพร้อมเข้าร่วมกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

จึงถือเป็นนิมิตหมายที่ดี

แม้การโยนชื่อ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ และอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ขึ้นมาเป็นตัวเลือกของคนเหมาะสมเป็น ประธาน กมธ.ชุดดังกล่าว จะมีทั้งคนเห็นด้วย ไม่เห็นด้วยและไม่แน่ใจก็ตาม

ขณะที่พรรคพลังประชารัฐแกนนำรัฐบาลต้องการเก็บตำแหน่งนี้ไว้กับตัว เพื่อถนัดในการคุมเกมแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งเป็นฉบับมรดกตกทอดของแม่น้ำ 5 สาย นำโดย คสช.

ซึ่งต่อมาแกนนำ คสช.ก็คือแกนนำรัฐบาล “ประยุทธ์ 2”

ส่วนสมาชิกแม่น้ำ 3-4 สายหลายคนได้รับแต่งตั้งจาก คสช.กลับเข้ามาเป็นส.ว. ซึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดให้มีอำนาจโหวตเลือกตัวนายกรัฐมนตรี ซึ่งก็คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตหัวหน้า คสช.นั่นเอง

เมื่อมองจากมุมนี้ก็พอจะเห็นรางๆ

ความยากในการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้อยู่ที่ใคร?

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน