คอลัมน์ ทิ้งหมัดเข้ามุม

สมิงสามผลัด

สุดท้ายคสช.ก็ต้องใช้มาตรา 44 ชะลอการลงโทษตามพ.ร.ก.บริหารจัดการแรงงานต่างด้าวที่กำลังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์

โดยให้ยืดเวลาบังคับใช้ พ.ร.ก.นี้ออกไปอีก 180 วัน หรือ 6 เดือน

ประเด็นปัญหาของพ.ร.ก.แรงงานต่างด้าวนี้ อย่างที่รู้กันว่าคือ หากจ้างแรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมาย จะมีความผิดทั้งนายจ้างและแรงงานต่างด้าว โดย “นายจ้าง” อาจถูกปรับ 4-8 แสนบาท

ส่วนแรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมาย ก็ต้องถูกปรับ 2-3 แสนบาท

หลังมีการประกาศใช้พ.ร.ก.นี้ก็เกิดปัญหาตามมาทันที ทั้งเรื่องแรงงานทยอยเดินทางกลับประเทศ ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการชาวไทยเดือดร้อนกันไปตามๆ กัน

ธุรกิจประมงก็ติติงเรื่องค่าธรรมเนียมที่ค่อนข้างแพง ภัตตาคาร-โรงงานก็ติดขัดเรื่องขาดแคลนแรงงานต่างด้าว

จนกระทั่งองค์กรเอกชนหลายแห่งรวมตัวกันร้องเรียนให้รัฐบาลทบทวนพ.ร.ก.นี้

เข้าใจว่าการผลักดันพ.ร.ก.แรงงานต่างด้าวครั้งนี้ก็เพื่อแสดงท่าทีที่ชัดเจนในการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ที่ไทยโดนจับตาอยู่ เพราะจะมีผลต่อการจัดอันดับของไทย รวมถึงสิทธิประโยชน์การค้าระหว่างประเทศ

รัฐบาลจึงเร่งรัดออกเป็นพ.ร.ก.เพื่อให้มีผลบังคับใช้ทันที

แต่เมื่อโดนกระแสต่อต้านอย่างหนักหน่วงแบบทันทีทันใด สุดท้ายคสช.ก็ต้องงัดมาตรา 44 ขึ้นมา “แก้ปัญหาเฉพาะหน้า” อีกครั้ง

ยืดเวลาไปครึ่งปีเพื่อให้ทั้งผู้ประกอบการและแรงงานต่างด้าวกลับเข้าสู่ระบบ

เรื่องนี้ทำให้นึกถึงกรณีปัญหาในอดีต โดยเฉพาะเรื่องออกกฎหมายห้ามนั่งแค็บ ห้ามนั่งท้ายกระบะเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งตอนนั้นรัฐบาลโดนกระแสต่อต้านอย่างรุนแรงจาก “รากหญ้า” ซึ่งใช้ปิกอัพเป็นส่วนใหญ่

เพราะเรื่องละเอียดอ่อนแบบนี้ ต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจและปรับตัวพอสมควร

ถ้าออกกฎหมายบังคับใช้กันทันทีแบบนี้ ก็จะเกิดปัญหาต่อต้านขึ้นมาแน่นอน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน