คอลัมน์ ทิ้งหมัดเข้ามุม

รุก กลางกระดาน

เป็นประเด็นที่อยู่ในความสนใจของสังคมทันที เมื่อที่ประชุมคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม(ก.ต.) มีมติเอกฉันท์ ไม่เสนอชื่อ นายศิริชัย วัฒนโยธิน ประธานศาลอุทธรณ์ ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกา คนที่ 44

แม้ว่านายศิริชัยจะมีอาวุโสสูงสุดก็ตาม

ส่งผลให้ที่ประชุมอนุกรรมการศาลยุติธรรม หรืออนุ กต. ต้องเสนอชื่อ นายชีพ จุลมนต์ รองประธานศาลฎีกา ซึ่งอาวุโสอันดับ 2 ให้ที่ประชุมกต.พิจารณาแทน

กรณีดังกล่าวทำให้สังคมย้อนกลับไปคิดถึงและเทียบเคียงกับเหตุการณ์วิกฤตตุลาการเมื่อปี 2534

กลัวจะเกิดการซ้ำรอยกับสถาบันหลักของกระบวนการยุติธรรม

ที่วงการตุลาการผู้พิพากษา แตกแยกออกเป็น 2 ส่วน

จึงจำเป็นต้องอธิบายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า กรณีปัจจุบันนั้นแตกต่างจากเมื่อปี 2534 อย่างสิ้นเชิง

เนื่องจากวิกฤตตุลาการที่เกิดขึ้น มีสาเหตุจากที่ประชุมกต.มีมติไม่รับรองชื่อนายสวัสดิ์ โชติพานิช ผู้ที่มีอาวุโสสูงสุด เป็นประธานศาลฎีกา

แต่นายประภาสน์ อวยชัย รมว.ยุติธรรม ในรัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน พยายามผลักดันให้นายสวัสดิ์เข้ารับตำแหน่งให้จงได้

จึงเกิดความแตกแยกออกเป็นฝักฝ่าย!??

ซึ่งสาเหตุหลักก็เกิดจากการที่ฝ่ายบริหารไม่ยอมรับอำนาจการตัดสินใจ ของ กต.นั่นเอง

เมื่อย้อนมาในกรณีปัจจุบัน ก็จะเห็นได้ว่านายศิริชัยเองไม่ผ่านการรับรองตั้งแต่ในชั้นอนุ กต. ซึ่งนัดประชุมกัน ถึง 4 รอบ

จนมาถึงในระดับของ กต. ก็เห็นพ้องต้องกัน

จึงถือได้ว่าเป็นมติร่วมกันของเหล่าตุลาการผู้พิพากษา

เมื่อไม่มีการแทรกแซงจากฝ่ายบริหาร และเคารพการตัดสินใจของบรรดา ผู้พิพากษา

วิกฤตตุลาการรอบใหม่ย่อมไม่ เกิดขึ้นแน่นอน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน