คอลัมน์ ทิ้งหมัดเข้ามุม

รุก กลางกระดาน

ท่ามกลางกระแสตำรวจฮีโร่ ที่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างรวดเร็วฉับไว ปิดคดีฆ่าล้างครัว 8 ศพได้อย่างหมดจด

เสียงชื่นชมก็ต้องสะดุดลงดื้อๆ

เมื่อย้อนกลับมาถึงคดีค้างเก่าที่บอส- วรยุทธ อยู่วิทยา ทายาทมหาเศรษฐีหมื่นล้าน ที่ซิ่งเฟอร์รารี่หรูชนตำรวจสายตรวจเสียชีวิตกลางถนนเมืองกรุง เมื่อปี 2555

โดยคดีดังกล่าวสามารถจับกุมผู้ก่อเหตุได้เกือบจะในทันที แต่ขั้นตอนกระบวน การกลับล่าช้า

ผ่านมา 5 ปี ก็ยังไม่มีการฟ้องคดี ต่อศาล จนบางข้อหาหมดอายุความ

เมื่อสังคมกดดันทวงถาม เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ขอศาลอนุมัติหมายจับ และออกมากระตือรือร้น จะทำเรื่องขอส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน ตั้งแต่เดือนเม.ย.ที่ผ่านมา

แต่ผ่านมาเกือบ 3 เดือนก็ยังไม่มีอะไรคืบหน้าอีกเช่นกัน

และเมื่อฟังเหตุผลหลายคนก็ถึงกับช็อก เมื่อรู้ว่าเป็นเพราะไม่มีคนแปลเอกสารจากภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษ แค่ 34 หน้า

ชวนให้สงสัยว่าเป็นไปได้หรือไม่ว่ามีกระบวนการเตะถ่วง ดึงเวลาให้ยืดเยื้อออกไป

แม้พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร ผบช.น. ออกมาชี้แจงว่าเป็นเรื่องผิดพลาดทางเทคนิค ก็ต้องรับฟัง และรอดูว่าจะรุดหน้าได้ถึง ขนาดไหน

อันที่จริงแล้วในสังคมก็เกิดข้อสงสัยในเรื่องกระบวนการยุติธรรมมาอยู่ตลอด

ไม่ว่าจะเป็นทำไมคดีนั้นคดีนี้รุดหน้ารวดเร็ว แต่บางคดีกลับอืดอาดล่าช้า

อย่างคดีที่เกี่ยวกับการเมืองเมื่อปี 2553 หลายคนติดคุกจนพ้นคดี หรือไม่ก็ตายในคุก

แต่คดีปิดสนามบิน ยึดทำเนียบปี 2551 กลับเงียบเชียบเงียบงัน เลื่อนเป็นระยะๆ

หรือกระทั่ง กปปส.ที่ถูกคดีกบฏในการปิดบ้านปิดเมือง เมื่อปี 2557 ก็ยังคาอยู่ที่ดีเอสไอ

ย้อนไปดูคดีทุจริต คดีรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เรื่องจำนำข้าว ก็ใกล้กำหนดตัดสิน

แต่คดีโรงพัก จัดซื้อจัดจ้าง งบไทย เข้มแข็ง หรือประกันราคาข้าว ในรัฐบาลอภิสิทธิ์

ก็ดำเนินไปเรื่อยๆ

ดังนั้น จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าหากอยากให้กระบวนการยุติธรรมในประเทศ เป็นไปในบรรทัดฐานเดียวกัน

ไม่ใช่มีแค่องค์กรตำรวจแห่งเดียวหรอกกระมัง ที่ต้องปฏิรูป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน