คอลัมน์ ทิ้งหมัดเข้ามุม

รุก กลางกระดาน

ถือเป็นความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัสสำหรับประชาชนทั่วทุกภาคของประเทศที่ต้องเผชิญกับวิกฤตน้ำท่วมระลอกใหม่

ตามที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยสรุปสถานการณ์ว่ามีถึง 36 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบ

มีหมดทั้งภาคเหนือ อีสาน กลาง ใต้

แต่ที่ดูจะหนักหนากว่าที่อื่นก็คงหนีไม่พ้นสกลนคร ที่ถูกน้ำป่าจากเทือกเขาภูพานประกอบกับอ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้นที่พนังดินแตก

ทะลักจมเมืองในพริบตา!!?

ต้องชื่นชมน้ำใจจิตอาสา รวมทั้ง เจ้าหน้าที่ทั้งตำรวจ ทหาร ที่ระดมความร่วมมือช่วยเหลือประชาชนอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย

เพียงแต่เมื่อวิกฤตผ่านพ้นไป ย่อมต้องตั้งคำถามถึงความสามารถของการบริหารจัดการของรัฐ ซึ่งเป็นหน้าที่ที่จะต้องไม่ให้เกิดเหตุซ้ำซากอีก

ไม่ว่าจะเป็นแนวทางการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาทของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่คสช.สั่งยกเลิก และประกาศใช้แผนชุดใหม่

ทำงานมาแล้วร่วม 3 ปี มีความคืบหน้าในการป้องกันน้ำท่วม แก้ภัยแล้ง อย่างเป็นรูปธรรมอย่างไรบ้าง

รวมทั้งโครงการขุดลอกหนองคลอง ที่ว่าจ้างองค์การทหารผ่านศึกเป็นผู้ดำเนินการ นั้นมีประโยชน์โภชน์ผลอย่างใดบ้าง

เพราะต้องไม่ลืมว่าเหตุน้ำท่วมที่อีสานนี้ มีเหตุจากอิทธิพลหย่อมความกดอากาศต่ำที่แปรสภาพจากพายุเซินกาเท่านั้น

ยังไม่เจอพายุเต็มๆ เลยด้วยซ้ำ !??

นอกจากนี้ยังมีคำถามถึงการบริหารจัดการในภาวะวิกฤต ว่าเหตุใดจึงไม่มีผู้มีอำนาจในการสั่งการลงไปกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด

แน่นอนว่าไม่จำเป็นต้องขนกันไปทั้งหมด เพราะบางกรณี ถ้าคนทำงานไม่เป็น มองปัญหาไม่ออก ก็จะกลายเป็นภาระของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานเอาเสียอีก

แต่ก็จำเป็นต้องมีคนกุมอำนาจ กล้าตัดสินใจ ลงไปคลุกในพื้นที่ เพื่อให้เร่งแก้ไขปัญหาได้รวดเร็วที่สุด

หากปล่อยให้แต่ละหน่วยงานทำตามหน้างานไปเรื่อยๆ ก็จะขาดการบูรณาการแก้ไขปัญหาที่ฉับไว

จึงไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมสังคมถึงทวงถามภาวะผู้นำของผู้บริหารประเทศ

ไม่เช่นนั้นประชาชนก็เดือดร้อนซ้ำซาก

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน