คอลัมน์ ทิ้งหมัดเข้ามุม

สมิงสามผลัด

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา นับเป็นความทุกข์ร้อนของชาวอีสานและภาคเหนือหลายจังหวัดที่ต้องประสบอุทกภัยครั้งรุนแรง อันเนื่องมาจากผลกระทบจากพายุ “เซินกา” ที่ฟาดหางผ่านด้านบนของประเทศไทย

หลายจังหวัดทั้งอีสานและเหนือจึง อ่วมไปตามๆ กัน

โดยเฉพาะสกลนคร ซึ่งถือว่าโดน น้ำท่วมหนักที่สุด เพราะน้ำทะลักเข้าท่วมเมืองตั้งแต่เช้ามืด หลังฝนตกหนักติดต่อกัน 2 วัน

ภาพที่ปรากฏตามสื่อนั้นหนักหนา สาหัสจริงๆ ถนนหน้ามหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนครน้ำท่วมสูงเกือบ 2 เมตร ย่านเศรษฐกิจสำคัญจมบาดาลกว่า 1.5 เมตร รถราตามถนนถูกน้ำท่วมมิดหลังคา หรือแม้แต่โรงแรมก็โดนน้ำทะลักเข้าท่วมถึงห้องพักชั้นล่างเสียหายอย่างหนัก

บ้านเรือนประชาชน ห้างร้านต่างๆ โดนน้ำท่วมเสียหายแทบจะทั้งเมืองสกล

ที่สำคัญ ตลอด 2 วันแรกจะพบว่ามีผู้ติดค้างอยู่ในอาคารต่างๆ ทั้งโรงหนัง ห้างสรรพสินค้า หรือแม้แต่หอพักต่างๆ ที่ไม่มีไฟฟ้า ขาดแคลนอาหาร ทางการต้องระดม เจ้าหน้าที่เข้าช่วยเหลือ หรือไม่ก็ลำเลียงอาหารให้ถึงมือผู้ประสบภัย

โรงพยาบาลต้องอพยพผู้ป่วย ต้องใช้เครื่องปั่นไฟ

เรียกได้ว่าเดือดร้อนไปทั้งจังหวัด และถือว่าเป็นน้ำท่วมครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 35 ปีของจังหวัดสกลนครทีเดียว

แต่ที่กลายเป็นกระแสดราม่ากัน ก็ตรงที่ทางการออกมาปฏิเสธว่า “อ่างเก็บน้ำ ไม่แตก” ทั้งที่คนสกลนครต่างรู้ดีว่าสาเหตุหลักที่น้ำท่วมครั้งนี้เพราะ “ทำนบดิน” ขอบอ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้น ซึ่งอยู่ในเมืองสกลเกิดแตกเป็นทางยาว 20 เมตร ลึกกว่า 4 เมตร

ทำให้น้ำกว่า 1 ล้านลบ.ม. ไหลเข้าท่วมตัวเมือง

นี่คืออีกบทเรียนของการบริหารจัดการน้ำในเขื่อนในอ่างเก็บน้ำใหญ่ๆ เรามีตัวอย่างน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 เพราะการบริหารจัดการไม่ดี ไม่เตรียมพร้อม

การเฝ้าระวังในหน้าฝน บริหารจัดการน้ำในฤดูพายุ ควรทำกันแต่เนิ่นๆ เตรียมการกันไว้ก่อน

เอาความผิดพลาดในอดีตมาเป็นบทเรียนป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาอีกในอนาคต

ไม่ใช่พอเกิดเรื่องแล้วก็ออกมาปฏิเสธแบบข้างๆ คูๆ แบบนี้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน