คอลัมน์ ทิ้งหมัดเข้ามุม

หลังกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมประสบความสำเร็จจากกิจกรรม “19 กันยา ทวงอำนาจ คืนราษฎร”

ปักหมุดลงใจกลางสนามหลวง พร้อมยื่นหนังสือผ่านไปถึงประธานองคมนตรี

สถานีต่อไปเป็นกลุ่มประชาชนปลดแอกรับไม้ต่อ นัดหมายชุมนุมหน้ารัฐสภาวันที่ 24 ก.ย.คือวันนี้

เป้าหมายกดดันเรื่องให้มีรัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่ ซึ่งเป็น 1 ใน 3 ประเด็นข้อเรียกร้องหลักในการเคลื่อนไหว

24 ก.ย.จึงเป็นตัวกำหนดสถานการณ์การเมืองต่อจากนี้

จะบรรเทาเบาบาง หรือยิ่งร้อนแรง

ทั้งหมดขึ้นอยู่กับผลลัพธ์การประชุมรัฐสภาพิจารณาญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้ง 6 ญัตติ

ที่เริ่มต้นวันที่ 23 ก.ย. สิ้นสุดวันนี้

วิป 3 ฝ่าย รัฐบาล ฝ่ายค้านและวุฒิสภา ตกลงกรอบเวลาวันแรกเริ่มประชุม 09.30 น. เลิก 01.30 น.

รูปแบบการประชุมจะเป็นการพิจารณารวม 6 ญัตติพร้อมกัน

วันที่ 24 ก.ย. ต้องยุติการอภิปรายเวลา 18.00 น. เพื่อเข้าสู่ขั้นตอนการลงมติโดยการขานชื่อรายบุคคล แต่ละคนจะขาน ทีเดียวว่ารับหรือไม่รับญัตติทั้ง 6 ฉบับ คาดว่ากินเวลานาน 3-4 ชั่วโมง

โดยกระบวนการทั้งหมดต้องจบก่อนเที่ยงคืน ไม่ให้เลยไปถึง 25 ก.ย.ซึ่งเป็นวันปิดสมัยประชุม

ในส่วนของส.ส.ไม่น่ามีปัญหา

ซีกรัฐบาลและฝ่ายค้านแม้เห็นต่าง ในบางประเด็นแต่ก็เห็นตรงกันในหลักการ ว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันจำเป็นต้องได้รับ การแก้ไขให้เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง เพื่อปลดล็อกนำพาประเทศออกจากห้วงวิกฤตการเมืองซ้ำซาก

ปัญหาคือการผ่านด่านแรกจำเป็นต้องใช้เสียงส.ว. 1 ใน 3 หรือ 84 เสียงจากทั้งหมด 250 คน

ตรงนี้จะว่ายากก็ยาก จะว่าง่ายก็ง่าย

ยากเพราะ 1 ในญัตติฝ่ายค้านมีเรื่องของการตัดอำนาจส.ว.โหวตตั้งนายกรัฐมนตรีด้วย

ที่ว่าง่าย เพียงแค่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ อดีตหัวหน้าคสช. ผู้ให้กำเนิดส.ว.ชุดนี้ ส่งสัญญาณไฟเขียว เชื่อว่าทุกอย่างจะจบลงด้วยดี

ม็อบเยาวชนนักศึกษาเสนอมา 3 ข้อเรียกร้อง หากรัฐบาลไม่เอาเลยสักข้อ ก็กระไรอยู่

ใน 3 ข้อ การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ รัฐบาลทำได้ง่ายสุด

ทำแล้วยังช่วยลดแรงเสียดทาน ช่วยให้ กระแสข้อเรียกร้องอื่นเบาลง

คงไม่ต้องบอกว่าเรื่องอะไร

มันฯ มือเสือ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน