คอลัมน์ ทิ้งหมัดเข้ามุม

มาตรา 112 – ถูกจับตามองอย่างเป็นห่วงจากนักกฎหมาย และนักสิทธิมนุษยชน ทั้งในประเทศไทยและในระดับโลก

สำหรับการใช้มาตรา 112 ดำเนินคดีกับกลุ่มผู้ชุมนุมราษฎร ที่ออกมาเคลื่อนไหวยื่น 3 ข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล

ด้วยจำนวนผู้ที่ถูกแจ้งข้อหาที่ทะลุ 30 คนไปแล้ว ซึ่งมีทั้งประชาชนทั่วไป นิสิต นักเรียน นักศึกษา ซึ่งมีอายุน้อยที่สุดเพียง 16 ปี

และน่ากังวลว่าในอนาคตจะมีจำนวนผู้ที่ถูกดำเนินคดีมากขึ้น และอาจจะมีผู้ถูกคดีอายุน้อยลงเรื่อยๆ

ส่งผลให้เกิดการตั้งคำถามถึงการใช้กฎหมายมาตรานี้มาดำเนินคดีว่ามีความเหมาะสมมากน้อยเพียงใด

เนื่องจากกฎหมายมาตราดังกล่าว ถูกจัดไว้ในหมวดเรื่องของความมั่นคง ซึ่งเปิดโอกาสให้ใครก็ได้ที่ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้เสียหาย สามารถแจ้งความดำเนินคดีได้

อีกทั้งการตีความบังคับใช้ ก็ยังคงสับสน ไม่มีบรรทัดฐานให้เห็นชัดเจนว่าอย่างไหนเข้าข่าย หรืออย่างไหนไม่เข้าข่าย

จนทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้วิธีแจ้งข้อหาไว้ก่อน แล้วให้ผู้ถูกกล่าวหามาต่อสู้คดีเอง ซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อการกลั่นแกล้งเพื่อให้ได้รับโทษ

ซึ่งเป็นหลักการที่ขัดและแย้งอย่างยิ่งกับหลักสิทธิเสรีภาพของประชาชน

นอกจากนี้เรื่องดังกล่าวยังเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเมืองอย่างปฏิเสธไม่ได้

เพราะการแจ้งข้อกล่าวหาทั้งหมด ล้วนเกิดขึ้นหลังจากที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ออกแถลงการณ์ให้ใช้กฎหมายทุกมาตรา

เท่ากับว่าพล.อ.ประยุทธ์ เองนั่นแหละที่ไฟเขียวให้ใช้กฎหมายมาตรานี้ กับกลุ่มผู้ชุมนุมที่ออกมาขับไล่พล.อ.ประยุทธ์ เองออกจากตำแหน่ง

จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้จริงๆ ที่คนจะเข้าใจไปว่าการใช้กฎหมายมาตราดังกล่าว ก็เพื่อตอบโต้คนที่ออกมาขับไล่

กลายเป็นเรื่องที่เกี่ยวพันกับตำแหน่งนายกฯ มากกว่าจะเป็นความผิดตามกฎหมายอย่างจริงจัง

นอกจากนี้ยังต้องตระหนักว่าการใช้มาตราดังกล่าว สถาบันเบื้องสูงย่อมได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน

จึงเป็นเรื่องที่พล.อ.ประยุทธ์ ควรพิจารณาทบทวนให้จงหนัก ว่าการดำเนินการดังกล่าวส่งผลได้เสียมากน้อยเพียงใด

และหากยุติการใช้กฎหมายมาตราที่มีปัญหานี้ก่อนที่เรื่องจะลุกลามบานปลาย

ย่อมเป็นประโยชน์ต่อสถานการณ์โดยรวมอย่างแน่นอน

รุก กลางกระดาน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน