คอลัมน์ ทิ้งหมัดเข้ามุม

ภาระภาษี ภาระประชาชน – เนื่องจากคำประกาศดังกล่าว ยังคงคลุมเครือไม่ชัดเจน เพราะเปิดช่องทางให้ผู้ว่าฯ ของแต่ละจังหวัดกำหนดมาตรการได้เอง

โดยมีแนวทางจากศบค.ว่า ‘เข้มข้นกว่าได้ แต่เบากว่าไม่ได้’

แม้จะมีข้อดีตรงที่แต่ละจังหวัดได้บริหารจัดการกันเองตามคุณลักษณะเฉพาะ แต่ก็มีข้อเสียที่ไม่มีมาตรฐานใดๆ ให้ยึดถือ

ยิ่งเป็นโครงสร้างรัฐราชการ ที่ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน แต่เป็นการสั่งการจากศูนย์กลางอำนาจแบบรวมศูนย์ ยิ่งทำให้เกิดอาการ ‘บ้าจี้’ ใช้คำสั่งควบคุมโรค โดยไม่สนใจปากท้องของประชาชน

เหมือนที่กทม. ออกประกาศห้ามรับประทานอาหารในร้านเป็นเวลา ทั้งที่ประกาศของรัฐบาลไม่ได้กำหนด

ย่อมส่งผลกระทบต่อพ่อค้าแม่ขายที่ต้องแบกภาระอื่นๆ ทั้งค่าเช่าร้าน ลูกจ้าง และอื่นๆ อีกมากมาย

แถมเมื่อสั่งไปแล้ว รัฐบาลไม่ชอบ ก็ล้วงลูกยกเลิก !!?

เมื่อรวมกับวาทกรรมของโฆษกศบค. ที่ชี้แจงกรณีไม่สั่งล็อกดาวน์ เพราะไม่ต้องการให้เป็น ‘ภาระทางภาษี’

หรือตีความได้ว่าไม่อยากรับผิดชอบ ที่จะเยียวยาใดๆ กับประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ

ตามมาด้วยคำพูด อย่างเช่น ให้ล็อกดาวน์ตัวเองของนายกฯ ที่พูดไว้ในการมาทำงานวันแรกหลังหยุดปีใหม่

โดยไม่ได้คิดเลยว่า ชาวบ้านธรรมดาที่ไม่มีบ้านหลวงให้อยู่ฟรีนั้น เขายังต้องทำมาหากินมาเป็นค่าอาหาร ค่าเช่าบ้าน และดูแลครอบครัว

และแทนที่จะผลักภาระทุกอย่างให้เป็นเรื่องให้ประชาชนดูแลกันเอง รัฐบาลก็ควรจะหาแนวทางแก้ไขปัญหาให้จงได้

หากคิดไม่ออก ก็ให้เริ่มตัดงบประมาณที่สุรุ่ยสุร่าย เลิกวุฒิสภาที่ไม่มีประโยชน์อันใดกับประชาชน เอาเงินมาช่วยเหลือเยียวยา

เจรจากับธนาคารทุกแห่งพักชำระหนี้ เปิดช่องให้ผู้ประกอบการได้หายใจหายคอ

ทำให้เห็นว่าเป็น ‘ภาระทางภาษี’ ที่พอจะมีประโยชน์

ไม่ใช่ทำตัวเป็น ‘ภาระของประชาชน’ เพราะคนเขาจะทนกันไม่ไหว!!

รุก กลางกระดาน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน