อำนาจเหนือรัฐธรรมนูญ?? : ทิ้งหมัดเข้ามุม

เป็นประเด็นข้อถกเถียงทันทีว่ากระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านวาระ 2 กำลังเข้าสู่วาระ 3 จะเป็นโมฆะหรือไม่

โดยมีเจตนาทำแท้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ใช้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 11 มี.ค. ที่เผยแพร่ออกมาเพียง 4 บรรทัด ระบุให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงมติเสียก่อน ว่าประสงค์ให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่

และเมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญเสียแล้วต้องให้ประชาชนลงประชามติเห็นชอบหรือไม่อีกครั้ง

อ้างว่าการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวยังไม่ได้ทำประชามติ

ข้อเท็จจริงเป็นอย่างนั้นหรือไม่ !??

เพราะต้องทำความเข้าใจก่อนว่าอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ คือการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ไม่ให้มีการกระทำที่ขัดหรือแย้งรัฐธรรมนูญ

และเมื่อมาดูรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ที่กำหนดขั้นตอนไว้อย่างละเอียด

มาตรา 256(8) ก็กำหนดขั้นตอนการทำประชามติชัดเจนว่าจะต้องดำเนินการหลังจากที่สภาลงมติเห็นชอบในวาระ 3

การวินิจฉัยว่าต้องทำประชามติก่อนการแก้รัฐธรรมนูญ จึงย่อมถูกตั้งคำถามว่าอ้างอิงจากบทบัญญัติข้อใด

ไม่เพียงแค่นั้นขั้นตอนการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะนำไปร้องศาลได้นั้น ก็กำหนดชัดเจนในมาตรา 256(9) ซึ่งเป็นเรื่องก่อนการทูลเกล้าฯ ลงพระปรมาภิไธย

ดังนั้นการอ้างมาตรา 210 เพื่อรับคำร้องดังกล่าวไว้พิจารณา ย่อมต้องถูกตั้งคำถามเช่นกันว่าถูกต้องหรือไม่

เพราะอย่าลืมว่าที่กำหนดให้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นที่สิ้นสุดและมีผลผูกพันกับทุกองค์กรนั้น ก็เพราะมีรัฐธรรมนูญที่เป็นตัวบทค้ำยันอยู่

หมายความว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่สามารถวินิจฉัยตัดสินอะไรได้ตามอำเภอใจ แต่ต้องดูแลให้เป็นไปตามตัวบท และเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

การวินิจฉัยที่นอกเหนือจากนั้นย่อมสร้างปัญหาในการยอมรับทั้งจากประชาชนและวงการนิติศาสตร์

จนกังวลว่าจะมีอำนาจใดที่สถาปนาตัวเองอยู่เหนือรัฐธรรมนูญ ชี้ถูกผิดโดยไม่ต้องยึดหลักตัวบทกฎหมาย

ซึ่งจะสร้างความสับสนให้กับวงการนิติศาสตร์จึงเป็นเรื่องที่ต้องทบทวนป้องกันเรื่องดังกล่าว

รักษาระบบของประเทศ ไม่ให้พังทลายลงไป

ให้เป็นที่ชัดเจนว่ายังคงยึดมั่นในนิติรัฐ นิติธรรม !??

รุก กลางกระดาน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน