คอลัมน์ ทิ้งหมัดเข้ามุม

อุปสรรครัฐธรรมนูญ – ยังเป็นเรื่องที่ถูกจับตาอย่างใกล้ชิดสำหรับประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ถูกทำแท้งไปโดยที่ประชุมรัฐสภา

ใครจะโหวตอย่างไร หรือแสดงท่าทีอย่างไรต่อกระบวนการ จะจริงใจหรือไก่กาก็คงรู้เช่นเห็นชาติกันไปหมดแล้วไม่ต้องมาสาธยายกันให้มากความ

เอาเป็นว่าต่อจากนี้จะเอาอย่างไรกันต่อไป!??

เพราะอย่าลืมว่าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เองก็เคยแถลงต่อสภาเมื่อครั้งเข้ารับตำแหน่งนายกฯ ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็น 1 ในภารกิจเร่งด่วน

แม้ระยะหลังการแสดงออกของนายกฯ เองจะไม่ค่อยแสดงความกระตือรือร้นที่จะทำตามสัญญานี้สักเท่าใดนัก “อย่างเช่นที่พูดด้วยอารมณ์ว่า หากอยากหยุดสืบทอดอำนาจ ก็แก้รัฐธรรมนูญให้ได้ก็แล้วกัน” แต่สังคมก็ยังจับตา

ว่าสุดท้ายแล้วจะเป็นการเขียนด้วยมือลบด้วยเท้าหรือไม่!??

ยิ่งไปกว่านั้นท่าทีของพรรคร่วมที่แม้ตอนนี้จะไม่ยอมอดอยากปากแห้ง ถอนตัวจากพรรคร่วมรัฐบาล

แต่ก็ยังยืนยันจุดยืนว่ารัฐธรรมนูญต้องแก้ไข อย่างน้อยก็เรื่องระบบการเลือกตั้ง และส.ว.เลือกนายกฯ

ไม่เช่นนั้นเลือกตั้งทุกครั้งก็กลายเป็นลูกไล่เขา ต้องอดทนกินน้ำใต้ศอก ไอ้ทนสักพักหรือสักระยะ ก็อาจจะพอไหว แต่จะถูกขี่ตลอดชาติก็ต้องทบทวนกันให้หนัก

ดังนั้นการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา จะต้องถูกผลักดันให้เกิดขึ้น ส่วนจะสำเร็จหรือไม่ก็สุดแล้วคาดเดา

แต่เอาเข้าจริงเรื่องของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญก็ยังมีเรื่องให้ถกเถียงกันอยู่

เพราะแม้จะอ่านคำวินิจฉัยฉบับเต็มก็มิได้สร้างความกระจ่างใดๆ และที่ส.ส.พปชร.และส.ว.อ้างเป็นต้นเหตุการล้มร่างแก้รธน.เพราะศาลสั่งให้ประชามติก่อนนั้น

อ้างอิงมาจากหลักเกณฑ์อะไร

ที่สำคัญรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็เคยแก้ไขมาแล้ว ในมาตรา 5 17 และ 182 แถมเป็นการดำเนินการหลังจากที่ประชาชนประชามติเห็นชอบไปแล้วด้วย

หากอ้างอิงหลักเกณฑ์ดังกล่าว แล้วมีผู้นำไปร้องศาลรัฐธรรมนูญ แล้วถ้าศาลยืนยันเป็นมาตรฐานเดียว ย่อมมีปัญหาต่อความชอบในการแก้รัฐธรรมนูญครั้งที่ผ่านมา

และก่อให้เกิดวิกฤตรัฐธรรมนูญขึ้นอย่างแน่นอน!??

รุก กลางกระดาน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน