“รุก กลางกระดาน”

น่าสนใจอย่างยิ่งสำหรับแนวคิดของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ที่ดูแลด้านเศรษฐกิจ ที่ประกาศว่ารัฐบาลจะใช้โอกาสที่มีอยู่เร่งแก้ไขปัญหาความยากจนของประเทศ

โดยมีเป้าหมายว่าในปี 2561 คนไทยจะต้องหายจน หรือไม่มีคนจนอีกแล้วในประเทศ

พร้อมเปิดเผยแนวทางว่าจะปลดล็อกกฎระเบียบเพื่อดึงเงินสะสมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) กว่า 2 แสนล้านบาทเอามาใช้จ่าย

ให้ตั้งโครงการแล้วเอาเงินกระจายลงไปในชุมชน เพื่อสร้างการจ้างงานและการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวชุมชน

ฟังแล้วก็เหมือนจะดูดี แต่ก็กลายเป็นคำถามว่า ปัญหาของคนจนในประเทศนี้อยู่ที่การพัฒนาเงินลงทุนไปไม่ถึงท้องถิ่นจริงหรือ

แล้วการใช้จ่ายงบประมาณปี 2561 เพียงปีเดียว จะส่งผลให้คนจนหมดประเทศได้เชียวเหรอ

หากเป็นเงินนั้น รัฐบาล คสช.ใช้จ่ายงบประมาณมาเป็นเวลา 3 ปี ตั้งงบจัดซื้อจัดจ้างไว้มากมายมหาศาล

เหตุใดคนจนในช่วง 3 ปีนี้ถึงไม่ลดลง หรือไม่หมดไปเสียที

เพราะที่จริงแล้วปัญหาความยากจนนั้นเกิดขึ้นจากโครงสร้างของสังคมที่กดทับมาเป็นเวลานาน

ไม่ว่าจะเป็นการขาดโอกาสในสังคม ทั้งเรื่องการศึกษา การสาธารณสุข การเข้าถึงทรัพยากรต่างๆ อันส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคม

การแก้ปัญหาความยากจนจึงต้องแก้ที่โครงสร้าง ไม่ใช่การใช้เงินอัดลงไปแบบชั่วครั้งชั่วคราว

ยิ่งไปกว่านั้น เงินสะสมของอปท. เป็นเงินที่แสดงความมีเสถียรภาพการคลัง ของอปท.แต่ละแห่ง

มีไว้เพื่อให้เกิดสภาพคล่อง เป็นเงินจ่ายเงินเดือนข้าราชการ ในช่วงที่งบประมาณประจำปีเบิกจ่ายไม่ทัน

และยังมีไว้เพื่อใช้ในกรณีที่ในพื้นที่ประสบภัยพิบัติ เพื่อเบิกจ่ายใช้ได้อย่างรวดเร็วทันการณ์

การตั้งเป้าใช้เงินสะสม อปท.ให้กระจายลงไปในท้องถิ่น จึงเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวังไม่ให้เกิดวิกฤตทางการคลังของ อปท. และการใช้เงินผิดประเภทอันจะส่งผลเสียหายในอนาคต

ไม่เช่นนั้นการที่หวังจะแก้ปัญหาจะกลายเป็นการซ้ำเติมปัญหาให้หนักมากขึ้น

เข้าทำนองขายฝันไม่สำเร็จ บ้านเมืองยังวิกฤตไปยิ่งกว่าเดิม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน