ภาคธุรกิจยังดำดิ่ง – ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิด เผยผลสำรวจผลกระทบจาก โควิด-19 ต่อภาคธุรกิจไทยในเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา

พบว่า การฟื้นตัวในภาพรวมยังอยู่ในระดับต่ำที่ใกล้เคียงกับเดือนก่อน

แม้จะผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด เช่น การเปิดร้านอาหารในห้างสรรพสินค้า การเปิดแคมป์ก่อสร้าง และการเดินทางข้ามจังหวัดของแรงงาน

แต่กำลังซื้อที่อ่อนแอก็ยังคงกดดันการฟื้นตัวในหลายธุรกิจ โดยเฉพาะภาคที่ไม่ใช่การผลิต

ส่วนด้านการผลิต ยังคงเผชิญกับการติดเชื้อเป็นคลัสเตอร์ในโรงงาน และการปิดโรงงานเพิ่มขึ้น

ขณะที่ระดับการฟื้นตัวของการจ้างงานนั้นทรงตัว ยกเว้นภาคการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นบ้าง เพราะการเปิดรับนักท่องเที่ยวในบางพื้นที่

แต่ภาคการค้ามีการจ้างงานลดลง ขณะที่รายได้เฉลี่ยของแรงงานปรับลดลง สอดคล้องกับการใช้นโยบายสลับกันมาทำงาน ลดชั่วโมงทำงาน และให้ใช้วันลาเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจส่วนใหญ่มีสภาพคล่องลดลงจากเดือนก่อน โดยเฉพาะ ภาคที่ไม่ใช่การผลิต อาทิ ธุรกิจขนส่ง ผู้โดยสารและธุรกิจก่อสร้าง ที่ความ เชื่อมั่นด้านรายได้ของธุรกิจส่วนใหญ่ปรับลดลง เมื่อเทียบกับช่วงที่มีมาตรการ ล็อกดาวน์ทั่วประเทศครั้งแรกเดือน เม.ย.2563

หากสถานการณ์การระบาดของ โควิด-19 ยังคงยืดเยื้อ พบว่าธุรกิจกว่าครึ่งเลือกที่จะปรับตัว

แบงก์ชาติระบุผู้ตอบแบบสอบถามกว่า 58.3% เลือกการลดต้นทุนและค่าใช้จ่าย อื่นๆ ที่ไม่ใช่ด้านแรงงาน อีก 51.7% เลือกที่จะชะลอการลงทุน และอีก 34.7% เลือกลดค่าใช้จ่ายด้านแรงงานลง 26.9% เลือกหารายได้จากช่องทางอื่น

นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้ตอบแบบสอบถามอีก 5.8% เลือกที่จะปิดกิจการชั่วคราว หรือปิดสาขา

จะเห็นได้ว่าการระบาดของ โควิด-19 มีผลกระทบอย่างต่อเนื่อง

อีกทั้งการบริหารจัดการของรัฐบาล ที่เลือกใช้วิธีล็อกดาวน์ในหลายพื้นที่ก็ยิ่งทำให้ทุกอย่างชะงักเป็นห่วงโซ่

ตั้งแต่เดือนก.ย.นี้ มีการผ่อนคลายมาตรการ แต่ถ้ายังควบคุมการระบาดไม่ได้ ระดมฉีดวัคซีนคุณภาพสูงไม่เป็นไปตามเป้า

ผลกระทบต่อภาคธุรกิจก็จะยังมีอยู่ต่อไป

เภรี กุลาธรรม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน