คอลัมน์ ทิ้งหมัดเข้ามุม

โดย…มันฯ มือเสือ

คำวินิจฉัยศาลฯ กับ#ม็อบ14พ.ย.

ตรวจสอบสถานการณ์การเมืองในรอบ 7 วัน

หลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยชี้ถึงการกระทำของทนายอานนท์ นำภา “ไมค์” ภาณุพงศ์ จาดนอก และ “รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ว่ามีจุดมุ่งหมายเพื่อการล้มล้างระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพเพื่อ ล้มล้างการปกครองฯ จากการประกาศ 10 ข้อเสนอ บนเวทีชุมนุมลานพญานาค มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต วันที่ 10 สิงหาคม 2563

นอกจากนั้นแล้วศาลฯ ยังสั่งให้ทั้ง 3 รวมถึงกลุ่มองค์กรเครือข่ายเลิกกระทำการดังกล่าวที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตด้วย

คำวินิจฉัยดังกล่าวก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์เชิงวิชาการกฎหมาย ตามมาอย่างกว้างขวาง ทั้งในแวดวง นักวิชาการ นักกฎหมาย นักนิติศาสตร์ นักรัฐศาสตร์ นักการเมือง สื่อมวลชนและประชาชนทั่วไปในสังคม

คณาจารย์นิติศาสตร์และเครือข่าย นักกฎหมาย 70 คนร่วมลงชื่อในแถลงการณ์ เนื้อหาแจกแจงถึงผลกระทบจากคำวินิจฉัย ดังกล่าวใน 3 ประเด็นหลัก

คือ สิทธิในการเข้าถึงการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม เสรีภาพประชาชนในการแสดงออกและการชุมนุมซึ่งเป็นสิทธิเสรีภาพสำคัญของการปกครองในระบอบประชา ธิปไตยและสถานะของพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย

ขณะที่ฝ่ายไม่เห็นด้วยกับม็อบคนรุ่นใหม่เรียกร้องประชาธิปไตย ไม่เพียงดาหน้าแสดงความเห็นสนับสนุนคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ เรียกร้องทุกฝ่ายเคารพและยึดถือปฏิบัติ เนื่องจากมีผลผูกพันกับทุกองค์กร

ยังฉวยโอกาสขยายผลทางการเมือง ยื่นร้องยุบพรรคก้าวไกล อ้างว่าเป็นพรรคการเมืองที่อยู่เบื้องหลังชี้นำกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ออกมาเคลื่อนไหวในรอบ 1-2 ปีมานี้ รวมถึงฟ้องร้องนักวิชาการ นักการเมืองที่ช่วยเหลือประกันตัวแกนนำ ผู้ชุมนุม

แต่ถึงกระนั้นก็ตามได้ปรากฏชัดเจนในเวลาต่อมาไม่นาน ว่าคำวินิจฉัย ของศาลฯ ไม่ได้ทำให้การชุมนุมปกป้องประชาธิปไตยยุติหรือหายไปเด็ดขาดจากท้องถนน

พิสูจน์ได้จากการชุมนุม #ม็อบ 14พฤศจิกา ที่ได้เคลื่อนขบวนจากแยกปทุมวันไปยังหน้าสถานทูตเยอรมัน

แน่นอนว่าการขับเคลื่อนการชุมนุมต้องระมัดระวังมากขึ้น แกนนำหลายคนต้องติดคุก ไม่ได้ประกัน แกนนำที่เหลืออาจต้องใช้วิธีสื่อสารประเด็นรูปแบบใหม่ แสวงหาแนวทางขับเคลื่อนใหม่

เพื่อหลบหลีกกับดักที่ขยายจาก คำวินิจฉัย 10 พ.ย.

เดินหน้าสู่เป้าหมายประชาธิปไตยโดยไม่เกรงกลัวหรือย่อท้อ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน