คอลัมน์ ทิ้งหมัดเข้ามุม
โดย – เภรี กุลาธรรม
บุคคลต้องห้ามบวช

กรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจคฝ.ขับบิ๊กไบก์พุ่งชนแพทย์หญิงขณะข้ามทาง ม้าลายจนเสียชีวิต เกิดความสำนึกผิด และอุปสมบท เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้ ถูกตั้งคำถามจากสังคมอย่างหนักว่าบวชได้อย่างไร

เนื่องจากมีความผิดคดีอาญา ฐานประมาทให้ผู้อื่นถึงแก่ชีวิต และถูกแจ้งข้อหาแล้ว

ขณะเดียวกัน ไลน์กลุ่มในบช.น.ก็มีเคลื่อนไหว ตั้งคำถามเชิงตัดพ้อว่าแล้วทีเสี่ยรถเบนซ์ขับรถชนตำรวจเสียชีวิต ทำไมบวชได้

กลายเป็นวิวาทะร้อนแรงสนั่นโลกออนไลน์

ในส่วนพระอุปัชฌาย์ผู้ทำอุปสมบทกรรมให้แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจรายนี้ เปิดเผยว่าได้รับการร้องขอจากเจ้าอาวาสกะทันหัน

เมื่อมาถึงโบสถ์ก็พบว่ามีตำรวจ เต็มไปหมด ระหว่างนั้นผู้บังคับบัญชาของผู้ขออุปสมบทก็แสดงตนขอเป็นผู้รับรอง จึงประกอบพิธีให้

ภายหลังเมื่อรู้ข้อเท็จจริงก็ขอให้ลาสิกขา แต่เจ้าตัวขอบวชให้ครบ 3 วันตามกำหนดก่อน

ตามกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 17 (พ.ศ.2536) ว่าด้วยการแต่งตั้งถอดถอน พระอุปัชฌาย์นั้น

ข้อ 13 กำหนดให้พระอุปัชฌาย์ต้องพบและสอบสวนกุลบุตรให้ได้คุณลักษณะก่อนจึงรับให้บรรพชาอุปสมบทได้ โดยต้องเป็นคนมีหลักฐาน มีอาชีพชอบธรรม มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ไม่ใช่คนจรจัด

เป็นสุภาพชน มีความประพฤติดีประพฤติชอบ ไม่มีความประพฤติเสียหาย เช่น ติดสุราหรือยาเสพติดให้โทษ เป็นต้น มีความรู้อ่านและเขียนหนังสือไทยได้

ไม่เป็นผู้มีทิฐิวิบัติ เป็นผู้ปราศจากบรรพชาโทษ และมีร่างกายสมบูรณ์ อาจบำเพ็ญสมณกิจได้ไม่เป็นคนชรา ไร้ความสามารถหรือทุพพลภาพ หรือพิกลพิการ และเป็นผู้สามารถกล่าวคำขอบรรพชาอุปสมบทได้ด้วยตนเองและถูกต้องไม่วิบัติ

นอกจากนี้ ข้อ 14 กำหนดให้พระอุปัชฌาย์ต้องงดเว้นการให้บรรพชาอุปสมบทแก่คนต้องห้ามรวม 7 ประเภท ได้แก่

คนทำความผิดหลบหนีอาญาแผ่นดิน คนหลบหนีราชการ คนต้องหาในคดีอาญา คนเคยถูกตัดสินจำคุกโดยฐานเป็นผู้ร้ายสำคัญ คนถูกห้ามอุปสมบทเด็ดขาดทางพระศาสนา คนมีโรคติดต่อเป็นที่น่ารังเกียจ เช่น วัณโรคในระยะอันตราย และคนมีอวัยวะพิการจนไม่สามารถปฏิบัติกิจพระศาสนาได้

ในข้อ “คนต้องหาในคดีอาญา” นั้น น่าจะต้องกำหนดให้ชัดเจนว่ามีขอบเขตขนาดไหน?

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน