หลังมีการเปิดประเด็นเสนอ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เป็นนายกฯ ขัดตาทัพแทน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ คนปัจจุบัน

ก็เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ตามมาถึงความเหมาะสมและความเป็นไปได้

โดยเฉพาะจากเดือนพฤษภาคมนี้ไปจนถึงสิงหาคม เป็นช่วง 4 เดือนอันตรายของพล.อ.ประยุทธ์ ที่ต้องฝ่า 3 ด่านหิน

ด่านแรก ร่างพ.ร.บ.งบประมาณปี 66 ถัดมาคือศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ และด่านสุดท้าย วาระนายกฯ ที่รัฐธรรมนูญห้ามอยู่เกิน 8 ปี

ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ 60 ถ้าพล.อ.ประยุทธ์ ผ่านด่านใดไปไม่ได้จนเป็นเหตุให้ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกฯ

ผู้จะมารับสิทธิ์เป็นนายกฯ คนต่อไปต้องมาจากบัญชีชื่อแคนดิเดตของพรรคต่างๆ ก่อน

กรณีนี้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยมีลุ้นมากสุด เจ้าตัวก็คงแอบหวังอยู่เหมือนกัน

สำหรับพล.อ.ประวิตร เป็นคนนอกบัญชีแคนดิเดตของพรรค

เส้นทางขัดตาทัพ จึงต้องใช้เงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญมาตรา 272 เหมือนที่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาฯ พรรคเศรษฐกิจไทย ระบุไว้

แต่ก็ไม่ง่ายเพราะต้องอาศัยเสียงหนุนจากสมาชิกรัฐสภาจำนวน 2 ใน 3

กระนั้นก็ตามบางคนมองว่า คนจุดพลุเปิดประเด็นไม่ว่าจะนายกฯ ขัดตาทัพนายกฯ สำรอง หรือนายกฯ คนนอกขึ้นมา

น่าจะหวังผลสร้างความหวาดระแวงระหว่างพี่น้อง 2 ป.มากกว่า เพื่อบ่อนเซาะทำลายรัฐบาลได้ง่ายขึ้น เพราะเอาเข้าจริงพล.อ.ประยุทธ์ กับพล.อ.ประวิตร ใครเป็นนายกฯ ก็คงไม่ต่างกัน

ถึงจะรู้ทั้งรู้ แต่เรื่องนายกฯ ขัดตาทัพก็ทำเอาพล.อ.ประวิตร เคลิ้มไปเหมือนกัน ไม่ได้ตอบปฏิเสธตอนนักข่าวจี้ถามเรื่องนี้

ต่างกับพล.อ.ประยุทธ์ ที่ใช้นิ้วอุดหู เหมือนไม่อยากรับรู้ ไม่อยากได้ยิน

น่าเห็นใจ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ แต่ก็ขาลอย ไม่มีส.ส.เป็นของตัวเองให้ยึดเหนี่ยว ทุกอย่างอยู่ในกำมือพี่ป้อม นึกจะบีบจะคลายตอนไหนก็ได้

ยิ่งใกล้ศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ จึงยิ่งน่าระทึกขวัญสำหรับพล.อ.ประยุทธ์

สุดท้ายกลับมาสู่ความเชื่อที่ว่า ถ้าไปต่อไม่ได้จริงๆ ไม่ว่าด่านไหนใน 3 ด่าน พล.อ.ประยุทธ์น่าจะเลือกใช้ช่องทางยุบสภา มากกว่าลาออก

ปล่อยให้นายกฯ สำรองจั่วลม ไม่ได้ขัดตาทัพอย่างที่หวัง ถึงจะเป็นพี่น้องกันก็ตาม

มันฯ มือเสือ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน