“รุก กลางกระดาน”

เป็นกรณีศึกษาที่ไม่ควรปล่อยผ่านไป

สำหรับคดีที่นายศรชัย สถิตย์รักษ์ดำรง หนุ่มเชียงราย ถูกยิงเสียชีวิตขณะ ขับรถผ่านด่านตรวจชุมชนช่วงปีใหม่ ที่ อ.แม่สรวย จ.เชียงราย

ซึ่งตอนแรกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุม ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ ที่ระบุว่าเป็น ผู้ก่อเหตุ

และไม่มีใครลงมืออีก

แต่เมื่อครอบครัวผู้เสียชีวิตไม่ยอม ทั้งแห่ศพประท้วงที่อำเภอ รวมทั้งเข้ามาร้องเรียนขอความเป็นธรรมต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

เมื่อเรื่องลุกลามบานปลาย ก็มีเจ้าหน้าที่ทหารที่ประจำด่านออกมายอมรับเองว่า เป็นผู้ลงมือยิง

สอดคล้องกับผลการตรวจของพฐ. ที่ระบุว่า กระสุนในร่างผู้เสียชีวิต เป็นกระสุนชนิด .223 ใช้กับปืนยิงเร็ว ประเภทอาวุธสงคราม และน่าจะเป็นปืนเอ็ม 16

กรณีดังกล่าวทำให้เกิดคำถามขึ้นในสังคม ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินคดีของเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ ว่าเข้าข่ายบกพร่อง หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่

เป็นเรื่องที่ต้องสอบสวนกันต่อไป

แต่สิ่งที่น่ามาทบทวนมากที่สุด ก็คือการนำเจ้าหน้าที่ทหารมาปฏิบัติการในเมือง ร่วมกับเจ้าหน้าที่อื่นๆ

เพราะเจ้าหน้าที่ทหารไม่ได้รับการฝึก ให้ปฏิบัติการในลักษณะตรวจค้นและรักษาความสงบ

เขาสอนให้ไปรบ เห็นฝ่ายตรงข้ามเป็นศัตรู ยิ่งมีอาวุธสงครามร้ายแรงในมือยิ่งไปกันใหญ่

แต่ในชุมชนเมือง ย่อมมีความสัมพันธ์ลักษณะซับซ้อนมากกว่า ต้องใช้ความละมุนละม่อม ใช้ทักษะหลากหลายกว่าการไปรบ

กรณีเช่นนี้ไม่ใช่ครั้งแรก เมื่อปี 2560 ก็เกิดกรณีทหารเฝ้าด่าน ใช้อาวุธสงครามยิงนายชัยภูมิ ป่าแส เยาวชนลาหู่เสียชีวิตคาด่านตรวจที่ จ.เชียงใหม่

แม้จะอ้างว่านายชัยภูมิ ขนยาเสพติด และต่อสู้ขัดขืน แต่ภาพถ่ายที่ปรากฏก่อนหน้านั้นก็สวนทางกัน เพราะมีรูปนายชัยภูมิให้ความร่วมมือกับการตรวจค้นด้วยดี

ที่สำคัญกล้องวงจรปิดที่เป็นหลักฐานสำคัญ ก็ยังไม่เปิดเผยสู่สาธารณชน

หรือหากย้อนไปถึงการชุมนุมทางการเมืองเมื่อปี”53 ที่มีการใช้กำลังทหารออกมา ก็เกิดการสูญเสียร่วมร้อยศพ

ทั้งหมดนี้จึงเป็นเหตุผลเพียงพอที่จะยุติใช้เจ้าหน้าที่ทหารมาปฏิบัติการในชุมชน

เพื่อไม่ให้เกิดสูญเสียอีก

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน