สังคมเฝ้าจับตา คอยลุ้นว่าเมื่อไหร่ จะไปด้วยกันได้ กรณีปัญหารัฐบาลกับธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ แบงก์ชาติ

โดยเฉพาะผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ที่ดูเหมือนยังไม่ตอบสนองนโยบายรัฐบาลเท่าที่ควร

ไม่ว่าจะเป็นนโยบายกระเป๋าเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท หรือการลดดอกเบี้ยนโยบาย

วันนี้ยังคงอยู่ที่ 2.5 เปอร์เซ็นต์ สูงสุดในรอบ 10 ปี

เฉพาะเรื่องการลดดอกเบี้ยนั้น ช่วงแรกที่เศรษฐา ทวีสิน เข้ามาเป็นนายกฯ ก็แสดงชัดเจนต้องการให้แบงก์ชาติ ลดดอกเบี้ย

เคยเชิญผู้ว่าฯ แบงก์ชาติมาหารือ 2-3 ครั้ง แต่ก็ไม่เป็นผลตามที่นายกฯ ต้องการ

และไม่ใช่เป็นเรื่องที่นายกฯ กับรัฐบาลเท่านั้น แต่ภาคเอกชน ภาคธุรกิจรายย่อย รายเล็ก ประชาชนต่างก็ต้องการเช่นกัน

แต่การจะใช้มาตรการดุดันของรัฐบาลต่อผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ไม่ได้ทำง่ายๆ

เพราะมีกฎหมาย ขั้นตอนยุ่งยาก ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าประพฤติเสื่อมเสียร้ายแรง หรือทุจริต

ที่สำคัญกว่านั้นคือจะกระทบต่อความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ หากรัฐบาลเข้าไปแทรกแซง

ล่าสุดนายกฯ เศรษฐาก็ยังยืนยันถึง หลักการตรงนี้

“ผมไม่เคยพูดให้ผู้ว่าฯ ลาออก รวมถึงเรื่องการปลดผู้ว่าฯ ด้วยความเคารพ ถ้าท่านผู้ว่าฯ ฟังอยู่ ผมไม่เคยกดดัน และ ไม่เคยพูดด้วย ผมกดดันผมอาจจะมีการพูดคุยถึงเรื่องเนื้องานเป็นหลัก ผมเป็นผู้นำรัฐบาลพูดมาแค่นี้โดยตลอด ก็แค่นี้นะครับ”

นั่นคือท่าทีของนายกฯ ต่อผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ

ต่อเรื่องนี้สำหรับมุมมองประชาชนแล้ว ผู้บริหารและหน่วยงานราชการ เป็นผู้ปฏิบัติที่ควรตอบสนองต่อนโยบายฝ่ายการเมืองอย่างเหมาะสม

เนื่องจากฝ่ายการเมืองมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ที่เลือกให้เข้ามาบริหารประเทศ ขับเคลื่อนนโยบาย แก้ปัญหาตามที่หาเสียงไว้

ทำได้หรือไม่ได้ ดีหรือไม่ดี นอก จากฝ่ายค้านตรวจสอบแล้ว ยังมีกระบวนการจากองค์กรอิสระทั้งหลายอีกด้วย

หวังว่าท่าทีและการตอบสนองของแบงก์ชาติจะคำนึงถึงเสียงสะท้อนประชาชนด้วย

ข้าวตอกแตก

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน