250 สว.ถ่ายภาพรูปร่วมกันเป็นที่ระลึก ก่อนเก็บของออกจากอาคารรัฐสภา
สว.ชุดนี้แต่งตั้งโดยคณะรัฐประหาร คสช. มีวาระ 5 ปี เข้ารับหน้าที่ 11 พ.ค.2562 จนถึง 10 พ.ค.2567 ขณะนี้อยู่ระหว่างรักษาการรอ 200 สว.ชุดใหม่
ถือเป็น ‘สว.เฉพาะกาล’ เนื่องมาจากบทเฉพาะกาลตามรัฐธรรมนูญปัจจุบัน ที่ร่างโดยเครือข่ายรัฐประหาร ให้อำนาจ (เฉพาะสว.ชุดนี้) ร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย
การมีวาระ 5 ปี หมายความว่าสว.ชุดนี้ได้เลือกนายกฯ อย่างน้อย 2 ครั้ง เพราะนายกฯ-รัฐบาลมีวาระ 4 ปี
ยัดไส้สอดใส่สิทธิพิเศษ ด้วยอำนาจพิเศษ เพื่อสืบทอดอำนาจพิเศษ ไว้อย่างเนียนๆ ?!
ใครจะเป็นนายกฯ ต้องได้เสียงข้างมากจากสมาชิกรัฐสภา 750 คน (สส. 500+สว. 250)
5 มิ.ย.2562 รัฐสภาประชุมเลือกนายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้รับการเสนอชื่อชิงตำแหน่งกับธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ สส.พรรคอนาคตใหม่
ผลการลงมติ พล.อ.ประยุทธ์ได้ 500 คะแนน ธนาธรได้ 244 คะแนน
พล.อ.ประยุทธ์ หัวหน้าคณะรัฐประหาร ผู้มีมาตรา 44 เหนือกฎหมายทั้งปวง ยึดอำนาจปกครองประเทศมาตั้งแต่พ.ค.2557
ได้สืบต่ออำนาจนายกฯ คนที่ 29 มีเครื่องหมายดอกจันกำกับ *เป็นนายกฯ จากรัฐสภาตามระบอบประชาธิปไตย นะจ๊ะ
ในจำนวน 500 คะแนนที่ได้ สว.เทเสียงให้เต็ม 100% ไม่มีแตกแถว
250 สว.ยังมีสิทธิโหวตเลือกนายกฯ ได้อีกเรื่อยๆ จนกว่าจะหมดวาระเดือนพ.ค.2567
พล.อ.ประยุทธ์บริหารประเทศเข้าปีที่ 4 มั่นใจในผลงาน กระแสความนิยม รวมถึงเสียงพรรคการเมืองสนับสนุน
20 มี.ค.2566 ประกาศยุบสภา พร้อมความฝันกลับทำเนียบรัฐบาลอีกรอบ โดยเป็นแคนดิเดตนายกฯของพรรครวมไทยสร้างชาติ
14 พ.ค.2566 วันเลือกตั้งใหญ่ พรรคพล.อ.ประยุทธ์ได้สส.แค่ 30 กว่าๆ ขณะที่พรรคแนวร่วมก็ได้สส.ไม่เข้าเป้า
นับรวม 250 สว.แล้ว บวกคูณยังไงก็ยังไม่เป็นเสียงข้างมากเกินครึ่งสภา
ขนาดมี 250 เสียงตุนในมือก่อนแข่ง แต่พ่ายแพ้เสียงมติประชาชน
สุดท้ายจำต้องยกสิทธิฟอร์มรัฐบาล ตั้งนายกฯ ให้พรรคหัวตาราง
ร่ายยาวมาทั้งหมดเพื่อจะบอกว่า จริงๆ แล้ว 250 สว.แต่งตั้ง หมดประโยชน์หน้าที่นานแล้ว
ตั้งแต่วันที่พรรคสืบทอดอำนาจพ่ายเลือกตั้ง !?
นายเจ็ดอักษร