มีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกรณีวุฒิสภามีมติตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาตรวจสอบการเลือก สว.

ฝ่ายไม่เห็นด้วยมองว่า อีกไม่กี่อึดใจข้างหน้าเมื่อ กกต.ตรวจสอบตามสมควรแล้วก็จะต้องประกาศรับรอง สว.ชุดใหม่ แล้วค่อยไปสอยทีหลัง ตามระเบียบ เมื่อนั้น กมธ.ที่ตั้งขึ้นก็จะไม่มีเวลาทำประโยชน์

อีกทั้งการตั้ง กมธ.ในช่วงเฮือกสุดท้ายของ สว.ปัจจุบัน ยังสุ่มเสี่ยงต่อการถูกมองเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ต้องการยื้อตำแหน่งต่อไปโดยไม่จำเป็น

แต่ไหนๆ เมื่อตั้งแล้ว ก็มีผู้เสนอว่า ควรใช้เวลาที่เหลืออยู่สร้างประโยชน์ให้มากที่สุด

ประโยชน์ที่ว่าก็คือ การสรุปปัญหาหลักจากบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญปี 60 ในส่วนวุฒิสมาชิก ซึ่งปรากฏชัดเจนจากการปฏิบัติจริงแล้วว่ามีปัญหา โดยเฉพาะในมาตรา 107 เกี่ยวกับกระบวนการได้มาซึ่ง สว.

เพื่อเสนอให้สภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร.ที่จะเกิดในอนาคต นำไปแก้ไขในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต่อไป

รวมถึงพ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. ฉบับปัจจุบันที่คลุมเครือไม่ชัดเจน ทั้งขั้นตอนและวิธีการเลือกอย่างที่เห็นกับตาในหลายประเด็น แม้แต่การประกาศรับรองผลก็ไม่กำหนดว่าให้เป็นเมื่อใด

กมธ.ที่ตั้งขึ้นจะมีดีอยู่บ้างก็ตรงที่มีอดีตกรรมาธิการยกร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว.ฉบับเจ้าปัญหานี้ร่วมด้วย

เพราะเมื่อเป็นคนที่ร่วมผูกปมปัญหาขึ้นมา ก็เชื่อว่าย่อมจะรู้ถึงวิธีแก้ปมปัญหา รู้แล้วก็ควรนำมาสรุปให้คณะกรรมาธิการร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว.ชุดหน้า นำไปออกกฎกติกาใหม่ให้ดีกว่าที่ชุดก่อนทำมา

นายนิกร จำนง โฆษกคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางการทำประชามติ เพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญ 2560 กล่าวว่า เมื่อไม่สามารถหมุนย้อนเวลากลับเพื่อแก้ปัญหาในอดีตได้ ก็ต้องเรียนรู้และยอมรับข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น แล้วแก้ไข

กรณีนี้ควรใช้เวลาที่มีศึกษาแนวทางแก้ไข เสนอไปยังส.ส.ร.ชุดใหม่ ให้จัดทำบทบัญญัติรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้ดีกว่าเดิม พร้อมเสนอแนวทางการร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว.เสียใหม่

ไม่ใช่หมุนวนจมอยู่กับปัญหา แล้วดึงประเทศชาติและประชาชนซึ่งกำลังยากลำบากให้จมลงไปด้วยกัน

มันฯ มือเสือ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน