มหากาพย์ที่ดินเขากระโดง จ.บุรีรัมย์ ข้อพิพาทระหว่างกรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย กับการรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ รฟท. กระทรวงคมนาคม จะจบอย่างไร เป็นประเด็นที่สังคมและคอการเมืองสนใจติดตาม
อังคารที่ผ่านมา นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คมนาคม กล่าวย้ำเรื่องนี้ ว่าอยากทำความชัดเจนว่าศาลอุทธรณ์ภาค 6 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และศาลฎีกา ตัดสินว่าที่บริเวณเขากระโดงนั้นเป็นที่ของ รฟท.
โดยเฉพาะเมื่อมีคำพิพากษาศาลแล้ว ทาง รฟท.จะต้องทำตาม ถ้าไม่ทำตามอาจเข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 คือ
“ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
นายสุริยะยังชี้ทางออกปัญหาชาวบ้านในพื้นที่ ว่า ถ้ามีการเอาที่ดินกลับมาเป็นของการรถไฟฯ แล้ว ก็สามารถเยียวยาประชาชนในพื้นที่ได้ โดยอาจจะคิดค่าเช่าในราคาที่ค่อนข้างถูก ซึ่งจะเป็นการแก้ปัญหาที่ถาวร
ส่วนบริเวณเป็นที่ตั้งของหน่วยราชการต่างๆ 12 แห่ง เช่น ศาลากลางจังหวัด และองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) นั้น รฟท.ต้องไปตรวจสอบก่อนว่าพื้นที่เหล่านั้นเป็นของ รฟท. จากนั้นก็สามารถตกลงให้เช่าได้
พร้อมยกตัวอย่าง เช่นเดียวกับกรณีที่ดินรัชดาฯ ที่ศาลอาญาและกรมอัยการเข้ามาขอเช่าพื้นที่กับ รฟท. ทาง รฟท.ก็ให้เช่าไป ส่วนมหากาพย์ที่ดินเขากระโดงจะจบได้หรือไม่ “เรื่องนี้ ถ้าทุกฝ่ายทำตามกฎหมาย มันจบได้” นายสุริยะระบุ
ล่าสุด องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT จัดอันดับให้กรณี “ฮุบที่รถไฟเขากระโดง” ติด 1 ใน 10 กรณีคอร์รัปชั่นแห่งปี 2567
พร้อมคำสาธยายว่า หลักนิติธรรมของประเทศถูกทำลาย เมื่ออิทธิพลนักการเมืองใหญ่เหนือคำพิพากษาศาลฎีกาและศาลปกครองสูงสุด กรมที่ดินและการรถไฟฯ โยนเรื่องกันไปมา เลือกหยิบยกข้อกฎหมายไปตีความจนบิดเบี้ยว
มาดูกันว่า สุดท้ายแล้วสมบัติของชาติจะได้รับการปกป้องหรือรัฐต้องจ่ายค่าโง่อะไร ก่อนที่ผู้มีอิทธิพลทางการเมืองเหล่านั้นจะได้สิทธิ์เช่าระยะยาวบนที่ดินหลวงในราคาแสนถูก
มันฯ มือเสือ