เข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายเป็นทางการ ก่อนถึงวันหย่อนบัตร เสาร์ 1 ก.พ.68 สำหรับการเลือกตั้งนายก อบจ. 47 จังหวัดและสมาชิก อบจ. 76 จังหวัด
รอบนี้พรรคเพื่อไทยส่งผู้สมัครนายก อบจ. ในนามพรรค 14 คน กับอีก 2 คนลงในนามสมาชิกพรรค
ขณะที่พรรคประชาชนส่ง 17 คน เน้นจังหวัดที่มีความพร้อมและได้ลุ้น
ในจำนวนผู้สมัคร 14+2 ของเพื่อไทย และ 17 ผู้สมัครของพรรคประชาชน มี 4 จังหวัดเป็นพื้นที่ต่อสู้กันโดยตรงระหว่าง 2 พรรคใหญ่ ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน มุกดาหาร และปราจีนบุรี
ที่ผ่านมา เพื่อไทยส่งผู้ช่วยหาเสียงอย่างนายทักษิณ ชินวัตร เดินสายลง พื้นที่เปิดเวทีปราศรัยช่วยผู้สมัครต่อเนื่อง โดยเฉพาะภาคอีสาน หวังกวาดเรียบทุกจังหวัดที่ส่งลงแข่ง รวมถึง จ.เชียงใหม่ บ้านเกิดตระกูลชินวัตร ที่แพ้ไม่ได้
พรรคประชาชนลุยหาเสียงแบบดาวกระจาย นำโดย “พิธา-ธนาธร” และ “หัวหน้าเท้ง” ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ จากทั้งหมด 17 คน หวังปักธงให้ได้อย่างน้อย 4 จังหวัดใน 4 ภาค ได้แก่ สมุทรปราการ ภูเก็ต ตราด และเชียงใหม่
โดยหวังต่อยอดคะแนนนิยมจาก เลือกตั้ง สส.เมื่อปี 66 ที่ 3 จังหวัดแรก พรรคก้าวไกลขณะนั้นได้ สส.ยกจังหวัด หรือกระทั่งเชียงใหม่ เขตเมืองก็ยังเบียดเอาชนะเพื่อไทยเจ้าถิ่น ได้มา 1 ที่นั่ง
ถึงกระนั้นก็ยังมีสิ่งที่ธนาธรและพิธา แสดงความกังวล คือห่วงว่าจะมีผู้ออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งครั้งนี้น้อย จนไม่อาจเป็นแรงผลักดันให้พรรคประชาชนไปถึงฝั่งฝันได้
แม้ กกต.จะตั้งเป้ามีผู้มาใช้สิทธิ์ไม่ต่ำกว่า 65% มากกว่าการเลือกตั้ง อบจ. ปี 63 ที่มีผู้มาใช้สิทธิ์ 29.2 ล้านคน หรือ 62.86% จากผู้มีสิทธิ์ทั้งหมด 46.5 ล้านคน
แต่การกำหนดให้มีการเลือกตั้งในวันเสาร์ ไม่ใช่วันอาทิตย์แบบทุกครั้งที่ผ่านมา อาจเป็นอุปสรรคสำคัญในการเพิ่มเปอร์เซ็นต์ผู้ออกมาใช้สิทธิ์
“เรากังวลการเลือกตั้งในวันเสาร์มากกว่า อย่าลืมว่าในประเทศไทย คนไม่ได้ทำงานแค่วันจันทร์ถึงศุกร์ แต่มีบริษัทที่ทำงานวันจันทร์ถึงเสาร์ด้วยนึกไม่ออกว่าจะมีใครยอมทิ้งรายได้ วันเสาร์มาใช้สิทธิ์เลือกตั้ง” ธนาธรระบุ
การมีผู้ออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งน้อย ไม่ว่าในการเมืองระดับใด ไม่ได้มีผลกระทบต่อพรรคใดพรรคหนึ่งเท่านั้น แต่ยังมีผลต่อระบอบประชาธิปไตย ทำให้การเลือกตั้งไม่สะท้อนเสียงความต้องการของประชาชนที่แท้จริงอีกด้วย
มันฯ มือเสือ