โครงการรถไฟความเร็วสูง ชะงักไปอย่างน่าเสียดายและเสียโอกาส ตั้งแต่นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถูกรัฐประหาร
ไม่เช่นนั้นโครงการไทยแลนด์ 2020 คงจะได้เห็นอานิสงส์แล้ว
แม้รัฐบาลรัฐประหารจะสานต่อ แต่ก็เป็นไปอย่างขอไปที สายกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ล่าช้ากว่าแผนเดิมมาก
น่ายินดี ที่คณะรัฐมนตรีน.ส.แพทองธาร ชินวัตร มีมติอนุมัติโครงการรถไฟความเร็วสูง ระยะที่ 2 นครราชสีมา-หนองคาย
คิดเป็นระยะทาง 357.12 ก.ม. กรอบวงเงิน 341,351.42 ล้านบาท
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกฯ และรมว.คมนาคม ระบุว่า ขั้นตอนต่อจากนี้ การรถไฟแห่งประเทศไทยจะต้องเร่งจัดทำร่างรายละเอียดขอบเขตงานหรือทีโอาร์ คาดว่าจะเปิดประกวดราคาได้ประมาณมิถุนายนปีนี้ เริ่มก่อสร้างพฤศจิกายน
ตั้งเป้าว่าจะต้องเสร็จ และพร้อมเปิดให้บริการในปี 2575
โดยกำชับให้ รฟท. พิจารณาการแบ่งสัญญางานโยธา ต้องน้อยลงกว่าเฟสที่ 1 ที่มีถึง 14 สัญญา เพราะการแบ่งสัญญางานที่มากเกิน อาจทำให้แล้วเสร็จล่าช้า
ส่วนเฟส 2 วงเงิน 341,351 ล้านบาทนั้น ประกอบด้วย ค่างานโยธา 237,454 ล้านบาท ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน และชดเชยทรัพย์สิน 12,418 ล้านบาท (เวนคืนที่ดินประมาณ 1,345 ไร่ สิ่งปลูกสร้าง 1,428 รายการ)
ค่าติดตั้งระบบราง ระบบรถไฟฟ้าและเครื่องกล และจัดหาขบวนรถไฟ 81,313 ล้านบาท ค่าควบคุมงานก่อสร้างงานโยธา 6,530 ล้านบาท ค่าบริหารโครงการ และควบคุมงานติดตั้งงานระบบรถไฟ 2,821 ล้านบาท และค่าที่ปรึกษาวิศวกรอิสระ 813 ล้านบาท
โดยให้เอกชนมาร่วมลงทุนแบบการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) ในงานเดินรถ และโครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าสถานีรถไฟนาทา จะประหยัดงบประมาณได้ประมาณ 8 หมื่นล้านบาท
ส่วนโครงการระยะที่ 1 ขณะนี้ความคืบหน้าการก่อสร้างอยู่ที่ 60% โดยเฉพาะสัญญาที่ยังติดปัญหาต่างๆ ต้องเร่งเคลียร์ให้จบ
สัญญาใดที่ยังล่าช้าอยู่ ก็ต้องให้ผู้รับจ้างหาแรงงานเข้ามาเพิ่ม เพื่อให้การก่อสร้างคล่องตัวและเสร็จเป็นไปตามแผนในปี 2571
สรุปว่าถ้าเร่งรัดโครงการเฟส 1 ให้เสร็จทันตามเป้า จากนั้นอีก 4 ปี ก็จะมีรถไฟทะลุสปป.ลาวเชื่อมต่อไปถึงจีน
ไม่กุดขาดช่วงหายไป เพราะประเทศไทยอีกแล้ว
เภรี กุลาธรรม