ยานญี่ปุ่นถึงดาวเคราะห์น้อย “ริวงุ” แล้ว เล็งยิงระเบิดกะเทาะพื้นผิว

ยานญี่ปุ่นถึงดาวเคราะห์น้อย – บีบีซี รายงานว่า ยานสำรวจ “ฮายาบูสะ 2” ขององค์การสำรวจอวกาศแห่งประเทศญี่ปุ่น หรือจาซา เดินทางถึงดาวเคราะห์น้อยดึกดำบรรพ์ “ริวงุ” แล้ว หลังทะยานขึ้นจากศูนย์ปล่อยยานอวกาศทาเนะงาชิมะ ในปี 2557 พร้อมปฏิบัติภารกิจต่อไปคือยิงระเบิดลงไปกะเทาะผิวดาวให้เป็นแอ่งและเก็บตัวอย่างกลับมาศึกษายังโลก

ดาวเคราะห์น้อยดังกล่าวมีรูปร่างคล้ายกับ ลูกข่าง หรือ ก้อนแร่เพชร จากเดิมที่นักวิทยาศาสตร์ญี่ปุ่นมองว่าน่าจะกลมๆ เหมือนขนมหวานท้องถิ่น ดังโงะ

ภารกิจของยานดังกล่าวคือการศึกษาทฤษฎีที่ว่า ดาวเคราะห์น้อยอาจเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดสิ่งมีชีวิตขึ้นบนโลก เพราะอาจนำแร่ธาตุที่สำคัญต่อการเกิดสิ่งมีชีวิตมา เช่น สารอินทรีย์ (สารที่มีคาร์บอนเป็นองค์ประกอบสูง) และโลหะมีค่า มาประเมินถึงความเป็นไปได้ถึงการทำเหมืองแร่บนก้อนหินยักษ์ในอวกาศเหล่านี้

นอกจากนี้ ดาวดาวเคราะห์น้อยดังกล่าวยังสร้างความฮือฮาให้นักวิทยาศาสตร์ด้วย หลังริวงุหมุนรอบตัวเองช้าลงโดยไม่ทราบสาเหตุ

“นักวิทยาศาสตร์หลายคนในกลุ่มเรา คาดไว้ว่ามันน่าจะหมุนเร็วมาก แต่ไม่รู้ยังไง มันหมุนช้าลงอย่างไม่ทราบสาเหตุ เราไม่รู้ว่าทำไมมันหมุนช้าลงได้เอง หัวข้อนี้ถือว่าน่าสนใจมาก” ดร.มาโคโตะ โยชิคาวะ ผู้บัญชาการภารกิจของยานฮายาบูสะ 2 กล่าว

ญี่ปุ่นไล่จับดาวเคราะห์น้อย

ดาวเคราะห์น้อยรูปทรงเพชร / JAXA

การศึกษาดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ จาซาจะเริ่มจากที่ยานจะสำรวจพื้นผิวอย่างละเอียดเพื่อส่งข้อมูลกลับมายังศูนย์ปฏิบัติการ ต่อมานักวิเคราะห์จะลงมติเพื่อเลือกตำแหน่งปะทะ หรือเรียกกันว่า ทัชดาวน์

ตำแหน่งนี้เป็นจุดที่ ฮายาบูสะ 2 จะปล่อยหัวเจาะ (อิมแพ็คเตอร์) ที่จะขับเคลื่อนตัวเองลงไปที่พื้นผิวดาวเคราะห์น้อยแล้วระเบิดตัวเองเพื่อสร้างแอ่งให้ ฮายาบูสะ 2 ลงไปเก็บตัวอย่างจากชั้นหินของริวงุ คาดว่า ภารกิจนี้น่าจะเกิดขึ้นได้ภายในต้นปีหน้า ซึ่งมีความท้าทายอย่างยิ่ง

JAXA

ภารกิจดังกล่าวนับเป็นหนึ่งในการสำรวจดาวหางที่มีความสำคัญในแวดวงวิทยาศาสตร์ เนื่องจากสามารถทำให้นักวิจัยทราบถึงจุดกำเนิดและวิวัฒนาการของระบบสุริยะ และเอกภพได้ โดยดาวเคราะห์น้อยดังกล่าวถือเป็นเศษซากจากเมื่อครั้งระบบสุริยะกำเนิดขึ้นเมื่อราว 4,600 ล้านปีก่อน

ยานฮายาบูสะ 2 จะใช้เวลาประมาณ 1 ปีครึ่ง ในการสำรวจพื้นผิว 900 ตารางเมตรของดาวริวงุอย่างละเอียด ห่างไปจากโลกประมาณ 290 ล้านกิโลเมตร ระหว่างนี้ จะปล่อยยานสำรวจขนาดเล็กลงไปบนพื้นผิวดาวหลายลำ อาทิ รถโรเวอร์ขนาดเล็ก และสัมภาระสำหรับใช้เพื่อการวิจัย รหัสว่า Mascot (Mobile Asteroid Surface Scout) พัฒนาจากประเทศเยอรมนี

ยานญี่ปุ่นถึงดาวเคราะห์น้อย

JAXA

ยานฮายาบูสะ 2 มีอุปกรณ์พิเศษที่เรียกว่า Lidar (light detection and ranging) ใช้หลักการยิงแสงลงไปยังพื้นผิวเพื่อวัดระยะห่างระหว่างตัวยานกับดาวหาง ซึ่งยานสำรวจนี้มีกำหนดจะเสร็จสิ้นภารกิจในเดือนธ.ค.ปีหน้า และนำตัวอย่างกลับมาถึงโลกในปี 2563

อ่านข่าวดาวเคราะห์น้อยอื่นๆ :

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน