เธอเห็นท้องฟ้านั่นไหม เริ่มตอนแรก ‘เมฆจานบิน’ ชวนฉงน
โดย บัญชา ธนบุญสมบัติ

บ้านใครอยู่ใกล้ภูเขา หรือหากคุณผู้อ่านไปเที่ยวใกล้ๆ ภูเขา อาจมีสิทธิ์ลุ้นเห็นเมฆรูปร่างน่าทึ่ง ซึ่งมองเผินๆ เหมือนกับจานบินของมนุษย์ต่างดาวบุกโลก ดูภาพที่ 1 ใกล้ๆ นี่สิครับ

เมฆเลนส์ / เมฆจานบิน – Lenticular_clouds ที่หาดแม่รำพึง จ.ระยอง วันที่ 26 ตุลาคม 2557 6.29 น. ภาพ : พิเชษฐ อิทธิสัทธากุล

ฝรั่งชาวบ้านเรียกเมฆแบบนี้ว่า UFO cloud แปลตรงตัวว่า เมฆสิ่งบินลึกลับ เพราะคำว่า UFO อ่านว่า “ยูเอฟโอ” ย่อมาจาก Unidentifed Flying Object แต่คนไทยมักถอดความหมาย UFO เพี้ยนไปกลายเป็นจานบิน (flying saucer)

ดังนั้น จึงอาจเรียกเมฆนี้แบบง่ายๆ ว่า “เมฆจานบิน” ก็ได้

แต่ถ้าเรียกแบบวิชาการ ก็ต้องเรียกว่า lenticular cloud หรือ “เมฆเลนส์” โดยชื่อแบบวิชาการแท้ๆ กำหนดโดยองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก คือ lenticularis (เลนติคิวลาริส) เป็นภาษาละติน มาจากคำว่า lenticular และ lens โดยคำว่า lens แปลว่า ถั่วเม็ดแบน

เมฆจานบินเกิดขึ้นได้ยังไง?

ลองคิดถึงบริเวณที่มีแนวเทือกเขา กระแสอากาศที่ไหลมาปะทะแนวเทือกเขานี้จะถูกบังคับให้ยกตัวสูงขึ้น แต่เมื่อผ่านแนวเทือกเขาไปแล้ว กระแสอากาศก็จะไหลกระเพื่อมเป็นคลื่น
ทีนี้กระแสอากาศมักแบ่งเป็นชั้นๆ ซ้อนกันอยู่ เมื่อมองภาพรวมจะพบว่า กระแสอากาศในชั้นล่างๆ จะกระเพื่อมมากกว่า ส่วนกระแสอากาศชั้นบนจะกระเพื่อมน้อยกว่า ดูภาพที่ 2 ครับ

เมฆเลนส์มักเกิดฝั่งปลายลมหลังแนวเทือกเขา

อากาศในแต่ละชั้นเมื่อถูกยกให้ลอยสูงขึ้นก็จะขยายตัวออก ส่งผลให้อุณหภูมิลดลงไป ผลก็คือ ไอน้ำจะกลั่นตัวเป็นหยดน้ำขนาดจิ๋วจำนวนมหาศาล ซึ่งมองโดยภาพรวมก็คือ เมฆ นั่นเอง

แต่เมฆที่เกิดขึ้นนี้ถูกกักอยู่ในชั้นอากาศที่ว่ามาแล้ว จึงมีรูปร่างแบนๆ ยืดยาวออกทางด้านข้าง และผิวมักค่อนข้างเรียบ ดูละม้ายคล้าย “จานบิน” หรือ “เลนส์” อันเป็นที่มาของชื่อเมฆชนิดนี้นั่นเอง!

ดังนั้น หากเห็นเมฆจานบินใกล้ๆ ภูเขา ก็แสดงว่าบริเวณนั้นเป็นยอดคลื่น (กระแสอากาศกระเพื่อมขึ้นสูงสุด) แต่ที่น่ารู้ก็คือ เมฆจานบินมักอยู่ที่เดิมไม่เคลื่อนที่ไปตามกระแสลม (ต่างจากเมฆส่วนใหญ่) เพียงแต่รูปร่างจะค่อยๆ เปลี่ยนไปทีละน้อยๆ บางครั้งพบว่าเมฆเลนส์อาจคงตัวอยู่นานหลายชั่วโมงก็มี

หากอากาศมีความชื้นมากน้อยสลับกันเป็นชั้นๆ ชั้นไหนชื้นมาก ก็เกิดหยดน้ำมาก ชั้นไหนชื้นน้อย ก็เกิดหยดน้ำน้อย ผลก็คือเกิดเป็นเมฆจานบินหลายชั้น หรือ เมฆเลนส์หลายชั้น มีชื่อเรียกสุดหรูเป็นภาษาฝรั่งเศสว่า ปิล ดาซิแอตส์ (pile d’assiettes) แปลว่า จานซ้อนกันหลายชั้น ดูภาพที่ 3 ครับ

เมฆเลนส์หลายชั้น (ปิล ดาซิแอตส์) ข้างทะเลสาบคาวากุจิโกะ ประเทศญี่ปุ่น วันที่ 2 มกราคม 2559 ภาพ: ลิลลี่ อรุณวิทยาภรณ์

อาจมีคำถามว่า แล้วในบริเวณที่ไม่มีภูเขาหรือแนวเทือกเขาเลย จะมีโอกาสเกิดเมฆเลนส์ได้มั้ย?
คำตอบคือ ได้! แม้ว่าจะเกิดยากกว่า โดยเมฆเลนส์แบบนี้ เรียกว่า เมฆเลนส์ที่เกิดเหนือพื้นราบ (flat-terrain lenticular clouds) ในต่างประเทศ เคยเกิดที่รัฐเท็กซัส และที่ Grand Rapids รัฐมิชิแกน สหรัฐอเมริกา เป็นต้น

ทั้งนี้ ข้อมูลจากเว็บ Earthsky.org ระบุว่า เมฆเลนส์แบบนี้เกิดขึ้นจากลมเฉือน (shear winds) ที่เป็นผลมาจากแนวปะทะอากาศ (front)

แม้ว่าแถบเขตร้อนอย่างบ้านเราไม่มีแนวปะทะอากาศแท้ๆ ดังเช่นในแถบเขตอบอุ่น แต่เมื่อวันอาทิตย์ที่ 17 ธันวาคม 2560 ซึ่งเป็นวันที่ลมหนาวกลับมาเยือนอีกครั้ง คนที่อยู่แถวๆ นนทบุรีจำนวนหนึ่งก็ได้ตื่นเต้นกับเมฆเลนส์ที่ปรากฏขึ้นอย่างไม่คาดฝัน ดูภาพที่ 4 ครับ

เธอเห็นท้องฟ้านั่นไหม

เมฆเลนส์ สนามบินน้ำ นนทบุรี มองไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ วันที่ 17 ธันวาคม 2560 10:48 น. ภาพ : บัญชา ธนบุญสมบัติ

ข้อสันนิษฐานของผมก็คือ มวลอากาศเย็นที่รุกเข้ามายังกรุงเทพและปริมณฑลในวันดังกล่าวน่าจะมีลักษณะทางอุตุนิยมวิทยาบางอย่างคล้ายคลึงกับแนวปะทะอากาศเย็น (cold front) อันเป็นเงื่อนไขที่ทำให้เกิดลมเฉือนและเมฆเลนส์นั่นเอง

คราวหน้า หากคุณคิดว่าเห็นจานบินอยู่บนท้องฟ้า ก็ลองจ้องให้ชัดๆ เพราะสิ่งที่เห็นนั้นอาจจะไม่ใช่ยานพาหนะของมะนาวต่างดุ๊ด แต่เป็นเมฆสุดพิเศษ คือ เมฆเลนส์ นั่นเองครับ!

แนะนำแหล่งข้อมูล : ขอแนะนำคลิป Mt.Rainier Lenticular Cloud Timelapse

ติดตามเฟซบุ๊ก บัญชา ธนบุญสมบัติ – www.facebook.com/buncha2509
อีเมล์ – [email protected]

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน