รับลมหนาวบนยอดเขา สนุกกับ Glory เหนือทะเลหมอก คอลัมน์ Weather Wisdom โดย บัญชา ธนบุญสมบัติ

รับลมหนาวบนยอดเขา – ช่วงใกล้ปลายปีอย่างนี้ หลายท่านอาจจะขึ้นไปเที่ยวรับลมหนาวบนภูเขาสูงๆ บางสถานที่อาจมีทะเลหมอกแสนสวยให้ชมอย่างเพลิดเพลิน แต่ทราบไหมครับว่า คุณผู้อ่านยังอาจเล่นสนุกกับทะเลหมอกได้ด้วย หากเงื่อนไขลงตัว

สมมติว่าคุณยืนหันหลังให้ดวงอาทิตย์ แล้วทะเลหมอกอยู่เบื้องล่างตรงหน้า เงาของคุณก็จะทอดยาวออกไปบนหมอกนั้น แต่สิ่งที่ไม่ธรรมดาก็คือ รอบๆ เงาศีรษะจะเห็นเป็นวงแสงสีรุ้งล้อมรอบอยู่

ดูภาพแรกใกล้ๆ นี้สิครับ

รับลมหนาวบนยอดเขา

กลอรี่บนทะเลหมอก / ภาพ: เอกลักษณ์ รัตนโชติ

วงแสงสีรุ้งนี้เรียกว่า glory เขียนว่า “กลอรี” ออกเสียงว่า “กลอ-รี่” เป็นปรากฏการณ์ทางแสงแบบหนึ่งที่เกิดจากการเลี้ยวเบน (diffraction) ของแสงโดยหยดน้ำในเมฆหรือหมอก ส่วนเงายาวๆ ของคุณ เรียกว่า Brocken spectre หรือ The spectre of the Brocken แปลตรงตัวว่า “เงาปิศาจบร็อกเคิน”

ชวนดูคลิป Brocken Spectre on Coniston Old Man ต่อไปนี้ จะเห็นภาพชัดเจนขึ้นนะครับ

หากได้เห็นกลอรี ลองเล่นสนุกๆ ตามคำแนะนำต่อไปนี้ครับ

เล่นสนุกอย่างแรก : ขยับศีรษะ หรือขยับเดินช้าๆ คุณจะเห็นวงแสงกลอรี่ติดตามเงาศีรษะไปด้วยเสมอ

เล่นสนุกอย่างที่สอง : ถ้าคุณยืนอยู่ข้างๆ เพื่อนที่ไปด้วยกัน คุณจะเห็นวงแสงนี้รอบเงาศีรษะของตัวเองเท่านั้น คนอื่นมีแต่เงายาวๆ ไม่มีวงแสงล้อมรอบ ถ้าคุณไม่รู้จักกลอรี่ ก็อาจเผลอหลงตัวเองไปว่า เฮ้ย! นี่ฉันต้องเป็นบุคคลสำคัญแน่ๆ แต่เพื่อนของคุณก็จะเห็นวงแสงสีรุ้งนี้รอบเงาศีรษะของเขา (หรือเธอ) เท่านั้น ส่วนคุณไม่มี นั่นคือ “แต่ละคนมีวงแสงกลอรีเป็นของตนเอง”

เล่นสนุกอย่างที่สาม : ลองถ่ายภาพกลอรี่โดยยกหรือยื่นกล้องออกไปห่างจากศีรษะ คุณจะพบว่าคราวนี้วงแสงกลอรี่สีรุ้งจะไปอยู่รอบเงาของกล้องถ่ายภาพแทน ดูภาพที่ 2 ซึ่ง ดร.สุรเวช สุธีธร ถ่ายภาพกลอรีหน้าน้ำพุร้อนสิครับ (น้ำพุร้อนก็อาจเกิดปรากฏการณ์กลอรีได้ เนื่องจากมีกลุ่มหยดน้ำขนาดเล็กจิ๋วจำนวนมากล่องลอยอยู่เหนือผิวน้ำร้อนๆ ซึ่งในทางกายภาพไม่ต่างจากหมอก)

รับลมหนาวบนยอดเขา

ภาพที่ 2: กลอรี่ที่น้ำพุร้อน 20 มิถุนายน 2559 8:24น. บ่อน้ำพุร้อน Waiotapu thermal park, New Zealand ภาพ: ดร.สุรเวช สุธีธร

เล่นสนุกอย่างที่สี่ : ถ้าหมอกหรือทะเลหมอกกว้างมากพอ คราวนี้ลองกวาดสายตาออกไปเป็นวงกว้าง คุณอาจโชคดีได้พบกับ “รุ้งหมอก (fogbow)” หรือ “รุ้งเผือก” ซึ่งเป็นรุ้งที่มีสีขาวนวล ขนาดเท่ากับรุ้งปฐมภูมิที่มักพบหลังฝนตกใหม่ๆ ทั้งนี้ รุ้งหมอกและกลอรี่จะมีจุดศูนย์กลางร่วมกันอยู่ที่เงาของกล้องถ่ายภาพ ดูภาพที่ 3 ครับ

รับลมหนาวบนยอดเขา

ภาพที่ 3: กลอรี่และรุ้งหมอก 25 ธันวาคม 2559 ดอยอ่างขาง ภาพ: ลิลลี่ อรุณวิทยาภรณ์

ได้รู้แง่มุมสนุกๆ เกี่ยวกับกลอรีแล้ว คราวหน้าไปเที่ยวทะเลหมอก ลองลุ้นเก็บภาพไปอวดเพื่อนๆ ในโซเชียลมีเดียกันเลยครับ!

บัญชา ธนบุญสมบัติ

www.facebook.com/buncha2509
[email protected]

แนะนำแหล่งข้อมูล


สนใจเรื่อง glory อย่างละเอียด ขอแนะนำหนังสือ “มหัศจรรย์ฟ้าฝน” ติดต่อ สนพ.สารคดี
โทร: 02-547-2700 ต่อ 111, 116
อีเมล: [email protected]
line id : 0815835040

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน