กระดูกขากรรไกรไทเทเนียม ผลงานวิจัยแพทย์และวิศวกรไทย

รายงานพิเศษ – แต่ละปีมีผู้ป่วยหลายร้อยรายทั่วประเทศ เข้าศัลยกรรมกระดูกขากรรไกร ซึ่งส่วนใหญ่มีสาเหตุจาก ‘เนื้องอกหรือมะเร็ง’ บริเวณใบหน้า ช่องปากและลำคอ ที่กัด กินลึกลงไปถึงเนื้อกระดูก โดยที่โรงพยาบาลศิริราชเพียงแห่งเดียว มีผู้ป่วยในลักษณะนี้ราว 100-200 รายต่อปี รองลงมาคือการติดเชื้อ หรือการฉายรังสี ที่ทำให้กระดูกผุกร่อนง่าย และอุบัติเหตุที่ทำให้มีการสูญเสียกระดูกขากรรไกร

ผศ.นพ.จงดี อาวเจนพงษ์ อาจารย์แพทย์ ผู้เชี่ยวชาญ หัวหน้าสาขาศัลยศาสตร์ตกแต่ง คณะแพทยศาสตร์ศิริราช มหาวิทยาลัยมหิดล เล่าถึงโจทย์สำคัญของงานวิจัยกระดูกขากรรไกรไทเทเนียมว่า สิ่งสำคัญที่สุดในการรักษา คือการทำให้ผู้ป่วยกลับมามีใบหน้าที่ปกติอีกครั้ง ซึ่งจะส่งผลให้ระบบทางเดินหายใจทำงานได้ปกติ อ้าปากหรือเคี้ยวอาหารได้คล่องขึ้น จากที่ผู้ป่วยต้องทนทุกข์ทรมานจากการสูญเสียกระดูกบางส่วนหรือต้องตัดกระดูกกรามล่างออกไปทั้งหมด โดยการรักษาที่ผ่านมา หลังจากผ่าตัดส่วนที่

เสียหายออกไปแล้ว ก็จะใช้วิธีย้ายกระดูกจากส่วนอื่นในร่างกาย ร่วมด้วยวัสดุทดแทนกระดูก ซึ่งการผ่าตัดแต่ละครั้งกินเวลายาวนาน ต้องใช้ทีมแพทย์ถึงสองทีม วัสดุทดแทนกระดูกที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน แพทย์ก็ต้องเหลาหรือขัดเกลาให้พอดี จึงจำเป็นต้องมีการผ่าตัด เพื่อปรับปรุงแก้ไขอีกอย่างน้อย 2-3 ครั้ง ค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดครั้งแรก จะอยู่ที่ราว 100,000-200,000 บาท ส่วนการปรับปรุงแก้ไขในครั้งต่อๆ ไปก็จะลดหลั่นลง ตามการรักษาของแต่ละบุคคล”

สิ่งที่ไม่อาจเลี่ยงได้คือการต้อง ‘ผ่าตัดซ้ำ’ ซึ่งนำมาสู่การต้องฟื้นฟูหลังผ่าตัดซ้ำๆ และการพักรักษาก็อาจ ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตและการทำงาน จึงนำมาสู่ ความร่วมมือวิจัยนวัตกรรมชุดเครื่องมือศัลยกรรมกระดูกขากรรไกร อันผสานความรู้ทางวิศวกรรมและการแพทย์เข้าด้วยกัน ใช้การออกแบบจากคอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติที่แม่นยำกับใบหน้า และวัสดุไทเทเนียมที่มีความปลอดภัยสูง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา

ผศ.นพ.จงดี แสดงความมั่นใจต่อความร่วมมือวิจัยในครั้งนี้ว่า “ที่ผ่านมามีการศึกษานวัตกรรมนี้อย่างจริงจัง ประกอบกับการตรวจสอบมาตรฐานในหลายๆ มาตรฐาน และการรับรองจากสถาบันที่เชื่อถือได้ จนมั่นใจว่าการรักษาด้วยกระดูกไทเทเนียมนี้ จะส่งผลดีในทุกๆ ด้าน ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา มีผู้ป่วยที่ได้รับ การรักษาด้วยกระดูกไทเทเนียมนี้นับร้อยเคส ในหลายๆ ส่วนของร่างกาย โดยพบว่าจำนวนครั้งของการผ่าตัดซ้ำลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และมีการติดตามผลการรักษา ต่อเนื่อง

ผศ.ดร.บุญรัตน์ โล่ห์วงศ์วัฒน จากภาควิชาโลหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า “เริ่มต้นงานวิจัยเกี่ยวกับไทเทเนียม มาตั้งแต่ปี 2554 หลังจากที่รู้สึกว่าการทำงานในแบบเดิมไม่เติมเต็มความรู้สึกลึกๆ ที่อยากจะทำอะไรสักอย่าง เพื่อก้าวข้ามขีดจำกัดของตัวเอง จึงเริ่มติดต่อไปหาแพทย์หลายท่านและได้รับความร่วมมือ จึงเกิดโครงการวิจัย จนในที่สุดได้นำผลการวิจัยไปใช้ในการรักษา จึงนำมาสู่การก่อตั้ง บริษัท เมติคูลี่ จำกัด สตาร์ตอัพจากรั้ววิศวะ จุฬาฯ ที่มองเห็นว่านวัตกรรมที่ได้นี้จะมีความยั่งยืน”

ความร่วมมือวิจัยนี้ถูกประเมินแล้วว่ามีความเป็นไปได้สูงที่จะประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย แต่ก็มีความท้าทายทั้งในแง่ที่ต้องสอดคล้องไปกับการรักษาของทันตแพทย์ ในแง่การนำที่นวัตกรรมชุดเครื่องมือศัลยกรรมกระดูกขากรรไกรไปใช้ได้จริง และในแง่การสร้างองค์ความรู้ในการใช้งาน ซึ่งทั้งหมดนี้จะนำไปสู่ความแพร่หลายของการรักษาที่ยกระดับขึ้นในวงกว้าง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน