ฟับบิ้ง-สังคมก้มหน้า

คอลัมน์ เจ๊าะแจ๊ะวิทยาศาสตร์

ฟับบิ้ง-สังคมก้มหน้า – เซี่ย เสี่ยวชุน และ จู เสี่ยวเว่ย ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยนอร์เทิร์นนอร์มอล เมือง ฉางชุน ประเทศจีน เปิดเผยผลการศึกษาผล กระทบของ “ฟับบิ้ง” (Phubbing) หรือจดจ่ออยู่กับแก๊ดเจ็ต ในครอบครัวยุคดิจิตอล ผ่านการสอบถามเด็กๆ ชั้นประถมศึกษาจนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย จำนวน 1,007 คน แบ่งเป็นเด็กหญิง 518 คน และเด็กชาย 489 คน ว่า พ่อแม่มีพฤติกรรมฟับบิ้ง ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์มือถือสมาร์ตโฟน หรือแท็บเล็ต โดยไม่สนใจคนรอบข้าง บ่อยแค่ไหน

นอกจากนี้ยังถามถึงเวลาที่เด็กๆ ใช้ในการเล่นสมาร์ตโฟน และแก๊ดเจ็ตอื่นๆ วันละกี่ชั่วโมง รวมทั้งมีเพื่อนที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมสุ่มเสี่ยง อาทิ การเสพติดโทรศัพท์มือถือ และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก่อนถึงกำหนดอายุที่ถูกต้องตามกฎหมาย

ฟับบิ้ง-สังคมก้มหน้า

ปรากฏว่าเด็กทั้งหมดในกลุ่มที่ผู้ปกครองมีพฤติกรรมฟับบิ้ง เสพติดการใช้แก๊ดเจ็ตเหมือนกับพ่อแม่ หนำซ้ำในกลุ่มเด็กผู้ชายยังเพิ่มความเสี่ยงคบเพื่อนที่มีพฤติกรรมสุ่มเสี่ยงด้วย

ผู้เชี่ยวชาญอธิบายว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เด็กอยู่ในภาวะ ฟับบิ้ง เพราะไม่ได้รับความสนใจจากพ่อแม่เท่าที่ควร และหันไปพึ่งพาแก๊ดเจ็ตโดยคิดว่าจะใกล้ชิดกับพ่อแม่มากขึ้น แต่นอกจากจะไม่ได้กระชับความสัมพันธ์แล้ว การ ฟับบิ้ง ยังขยายช่องว่างระหว่างคนในครอบครัวให้ยิ่งห่างออกไป ซึ่งทีมวิจัยหวังผลทดสอบนี้จะช่วยให้ครอบครัวยุคใหม่รู้จักแบ่งเวลาและใช้แก๊ดเจ็ตอย่างพอดี

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน