อี-แบนเดจ

คอลัมน์ เจ๊าะแจ๊ะวิทยาศาสตร์

อี-แบนเดจ – หยิน หลง บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยวิสคอนซินเมดิสัน สหรัฐอเมริกา ร่วมกับทีมวิจัยพัฒนาอิเล็กทรอนิกส์ แบนเดจ หรือปลาสเตอร์ปิดแผลอิเล็กทรอนิกส์ที่ช่วยกระตุ้นการสร้างเนื้อเยื่อ และทำให้แผลหายเร็วขึ้นถึง 4 เท่า

เพราะนาโนมอเตอร์ติดตั้ง อยู่ด้านใน สร้างพลังงานขับเคลื่อนตัวเองได้ โดยทุกครั้งที่มีการหายใจจะสร้างกระแสไฟฟ้าและส่ง อิเล็กทริกพัลส์ หรือสัญญาณทางไฟฟ้าไปกระตุ้นเซลล์ไฟโบรบลาสต์ ซึ่งทำหน้าที่สร้างเนื้อเยื่อ และคอลลาเจนให้กับชั้นผิว

อี-แบนเดจ

จากการทดลองนำอีแบนเดจไปแปะบนตัวหนูทดลองที่มีแผลบาดขนาด 1 เซนติเมตรบนหลัง เปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงของบาดแผล ปรากฏว่าแผลของหนูในกลุ่มที่เปิดใช้อีแบนเดจ มีลักษณะตื้นเขินและเกือบปิดสนิทเพียง 2 วัน และใช้เวลาแค่ 3 วันเท่านั้นที่แผลหายสนิท ต่างจากหนูอีกกลุ่มที่ต้องใช้เวลาระหว่าง 10-12 วัน เพื่อให้กลไกร่างกายซ่อมแซมบาดแผล

ทั้งนี้ การใช้ไฟฟ้ากระตุ้นในทางการแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นการใช้กระแสไฟฟ้าลดอาการบวม และเพิ่มการไหลเวียนเลือดนั้น มีมานานและได้รับการยอมรับตั้งแต่ช่วงทศวรรษ ที่ 1960 แต่ต้องอยู่ภายใต้การดูแล ของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ จึงไม่สะดวก และมีค่าใช้จ่ายที่ผู้ป่วยยบางคนอาจไม่สามารถจ่ายได้

ทีมวิจัยจึงหวังว่าความสำเร็จในการพัฒนาอีแบนเดจสามารถต่อยอดเพื่อจำหน่ายในวงกว้าง รวมถึงเป็นทางเลือกในการรักษาแผลของผู้ป่วยโรคเบาหวานที่เป็นแล้วเรื้อรัง หายช้า และเสี่ยงติดเชื้อได้ง่าย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน