‘อินจินิวตี’เปิดศักราช – อัพเดตความคืบหน้าภารกิจสำรวจดาวอังคารครั้งใหญ่ หลังองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติของสหรัฐ อเมริกา (นาซ่า) สร้างประวัติศาสตร์การสำรวจอวกาศครั้งใหม่ด้วยการส่งโดรนเฮลิคอปเตอร์ อินจินิวตี (Ingenuity) ขึ้นบินเหนือพื้นผิวดาวแดง นับเป็นการบินขึ้นจากพื้นผิวดาวเคราะห์นอกโลกครั้งแรกของมนุษยชาติ

นับเป็นการเปิดศักราชเทคโนโลยีการสำรวจดาวเคราะห์นอกโลกทางอากาศรูปแบบใหม่

การทดสอบนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 19 เม.ย. เวลา 04.31 น. ตามเวลามาตรฐานกรีนิช (ตรงกับเวลา 11.31 น.วันเดียวกัน ตามเวลาประเทศไทย)

เฮลิคอปเตอร์ดังกล่าวมีน้ำหนัก 1.8 กิโลกรัม สูง 19 นิ้ว (48 เซนติเมตร) ผ่านการทดสอบทุกขั้นตอนที่ทางนาซ่ากำหนดไว้ในภารกิจทดสอบบินบนดาวแดง รวมถึงการทดสอบใบพัดคู่ความเร็วสูง แต่ละข้างยาวถึง 1.2 เมตร และมีอัตราเร็วสูงสุดในการหมุนถึง 2,400 รอบต่อนาที ซึ่งเป็นรอบสูงสุดในการขึ้นบิน

เมื่ออยู่บนดาวอังคาร ฮ.ลำนี้ลอยตัวขึ้นเหนือพื้นผิวดาวแดงสูงประมาณ 3 เมตร เป็นเวลานาน 40 วินาที จากนั้นส่งภาพถ่ายส่งให้กับยานหลักคือ ยานสำรวจเพอร์เซเวียแรนซ์ ยานสำรวจล้อหมุน หรือโรเวอร์ลำใหม่ล่าสุด ที่ใช้งบประมาณเนรมิตถึง 2,700 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 84,000 ล้านบาท พร้อมกล้องถ่ายภาพสุดคมชัดที่ทางนาซ่าเพิ่งส่งไปถึงแอ่งหลุมอุกกาบาตเยเซโร (Jezero Crater) บนดาวแดงเมื่อ 19 ก.พ.2564

ข้อมูลดังกล่าวจึงส่งต่อจากยานเพอร์เซเวียแรนซ์มาที่ยานระดับวงโคจร ตรงไปยังยานรับสัญญาณที่อยู่ระหว่างดาวอังคารกับโลก ส่งตรงมายังห้องควบคุมภารกิจที่ห้องปฏิบัติการระบบขับเคลื่อนไอพ่น เมืองพาซาเดนา รัฐแคลิฟอร์เนีย ในเวลาเกือบ 6 ชั่วโมงต่อมา

“อินจินิวตีขึ้นบินครั้งแรกเรียบร้อยแล้ว ถือเป็นการขึ้นบินบนดาวเคราะห์นอกโลกครั้งแรก” นายฮาวาร์ด กริพ เจ้าหน้าที่ผู้ควบคุมการบินของเฮลิคอปเตอร์กล่าว เรียกเสียงโห่ร้องด้วยความปลาบปลื้ม และเสียงปรบมือของเจ้าหน้าที่ลั่นห้องควบคุม หลังได้รับการยืนยันว่าอินจินิวตีขึ้นบินได้สำเร็จ

แม้การทดสอบบินดังกล่าวจะกินเวลาเพียงไม่ถึงนาทีแต่ถือว่าจะเป็นการพลิกโฉมวงการสำรวจอวกาศไปตลอดกาล เพราะเป็นเทคโนโลยีนำร่องการสำรวจดาวอังคารทางอากาศ ซึ่งทางนาซ่าเตรียมจะนำมาใช้ควบคู่กับโรเวอร์ในอีกหลายภารกิจที่กำลังจะเกิดในอนาคตอันใกล้นี้

ภารกิจของเฮลิคอปเตอร์มูลค่า 85 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 2,600 ล้านบาท ลำนี้เป็นการสาธิตเทคโนโลยีเพื่อพิสูจน์ว่าการบินบนชั้นบรรยากาศของดาวแดงนั้นเป็นไปได้ ซึ่งถือเป็นความท้าทายทางวิศวกรรมอย่างมาก

เนื่องจากชั้นบรรยากาศบนดาวอังคารนั้นมีความหนาแน่นเทียบเท่ากับเพียงร้อยละ 1 ของชั้นบรรยากาศโลก ที่ระดับน้ำทะเล หมายความว่าไม่ค่อยมีอากาศให้ใบพัดของเฮลิคอปเตอร์ปั่นเพื่อใช้ยกตัว เป็นปัญหาใหญ่ แม้จะได้ตัวช่วยมาจากแรงดึงดูดของ ดาวอังคารที่น้อยกว่าโลก (เทียบเท่ากับเพียงร้อยละ 38 ของแรงดึงดูดโลก)

อินจินิวตี ติดตั้งไปกับท้องของยาน เพอร์เซเวียแรนซ์ก่อนจะแยกตัวออกมาจากยานหลัก จากนั้นจึงเข้าสู่กระบวนการเตรียมการทดสอบบินที่เดิมกำหนดไว้ตั้งแต่ 11 เม.ย. แต่เลื่อนมาเป็น 19 เม.ย. ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างงดงาม

มีมี่ ออง ผู้จัดการหญิงในภารกิจอินจินิวตีถึงกับนำถ้อยแถลงกรณีภารกิจล้มเหลวมาฉีกทิ้งท่ามกลางเสียงปรบมือและเสียงหัวเราะของเพื่อนร่วมงาน

“ต่อไปนี้เราสามารถพูดได้เต็มปากแล้วว่ามนุษยชาติเคยใช้เฮลิคอปเตอร์บินบนดาวดวงอื่นที่ไม่ใช่โลกมาแล้ว” และว่า “เราเคยคุยกันเรื่องการสร้างประวัติศาสตร์การบินให้ได้เหมือนสองพี่น้องตระกูลไรต์บนดาวอังคาร นี่ไงล่ะทุกท่าน” นางออง กล่าวด้วยรอยยิ้มและความปลาบปลื้มใจ

ด้านนาซ่าตั้งชื่อจุดที่เครื่องอินจินิวตีใช้บินขึ้นและลงจอดว่า “สนามบินพี่น้องไรต์” ตามชื่อของนายออวิลล์ และวิลเบอร์ พี่น้องชาวอเมริกันซึ่งได้รับการยกย่องจากประชาคมโลกให้เป็นหนึ่งในผู้พลิกโฉมหน้าประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติด้วยการเป็นบุคคลแรกที่ออกแบบและสร้างเครื่องบินที่มีเครื่องยนต์และนำไปใช้ได้จริงเป็นคนแรกของโลกเมื่อปีพ.ศ.2446

สเปซดอทคอมระบุว่า ด้วยความที่อินจินิวตีเป็นการสาธิตเทคโนโลยี จึงไม่ได้รับการติดตั้งอุปกรณ์เก็บตัวอย่างและตรวจวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ใดๆ มีเพียงกล้องขาวดำเพื่อใช้ในการนำร่อง และกล้องถ่ายภาพสีความละเอียด 13 ล้านพิกเซล ไว้ใช้ถ่ายภาพปกติทั่วไปเท่านั้น เพื่อพิสูจน์ว่าการบินบนดาวอังคารนั้นทำได้จริง

สำหรับเหตุขัดข้องเล็กน้อยที่ทำให้เปลี่ยนฤกษ์การบินมาจากระบบนับ เวลาถอยหลังไม่ทำงาน ทำให้เครื่องไม่ได้ ขึ้นบินตามกำหนดเดิม นาซ่าจึงเลื่อนกำหนดการทดสอบจากวันที่ 11 ไป เป็นวันที่ 14 และอีกครั้งไปเป็นวันที่ 17 เพื่อให้แน่ใจว่าทุกระบบทำงานได้ ร้อยเปอร์เซ็นต์เต็ม นำมาสู่การตัดสินใจ ส่งคำสั่งเริ่มการทดสอบในวันที่ 19 เม.ย.

อองระบุในบล็อกส่วนตัวว่า การแก้ไขหน้างานให้กับเครื่องเฮลิคอปเตอร์ อินจิ นิวตี เป็นการแก้ไขที่กระทบต่อภารกิจน้อยที่สุดและได้ผลดีที่สุด พิสูจน์ได้จากผลลัพธ์การทดสอบที่เครื่องขึ้นบินและผ่านการทดสอบทั้งหมด โดยการแก้ไขเป็นเพียงการดัดแปลงทางซอฟต์แวร์ส่งไปจากโลกเท่านั้น

แม้อินจินิวตีจะเป็นเพียงโดรน แต่ด้านซอฟต์แวร์แล้วได้รับการติดตั้งระบบปัญญาประดิษฐ์ที่ชาญฉลาดสามารถนำร่องและหาทิศทาง รวมทั้งกำหนดเส้นทางได้ด้วยตัวเอง เพียงแต่การวิเคราะห์จากภาพถ่ายที่ได้จากกล้องซึ่งนาซ่าติดตั้งไว้ที่ตัวมัน

ภารกิจทดสอบการบินของอินจินิวตียังไม่จบเพียงเท่านี้ ขั้นต่อไปทางนาซ่ามีแผนจะนำเฮลิคอปเตอร์ลำนี้ขึ้นบินเหนือพื้นผิวดาวแดงอีกอย่างน้อย 4 รอบ ภายใน 1 เดือน และให้บินสูงขึ้นเรื่อยๆ กำหนดไว้ไม่เกิน 5 เมตร และทดสอบบินแนวราบเป็นระยะทางไม่เกิน 50 เมตร ซึ่งหากทุกอย่างดำเนินไปได้ด้วยดี ทางนาซ่ามีแผนจะให้อินจินิวตีลองบินฉวัดเฉวียนและผาดโผนขึ้นเรื่อยๆ ด้วย

“ถ้าลองย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์ตอนที่พี่น้องไรต์สาธิตการบินสำเร็จเป็นครั้งแรก ต่อมาไม่นานพวกเขาก็กลับไปทำงานคิดค้นต่ออีก การขึ้นบินครั้งนี้ของอินจินิวตีก็เทียบได้กับการสาธิตนั่นแหละค่ะ ขอแสดงความยินดีกับทุกคน ฉลองกันให้เต็มที่แล้วพวกเรากลับไปทำงานกันต่อ” อองกล่าว

สำหรับในส่วนของ ยานเพอร์เซเวียแรนซ์ ยานโรเวอร์ซึ่งทำหน้าที่สนับสนุนในการทดสอบจะมีหน้าที่คอยรับส่งสัญญาณจากอินจินิวตีกับห้องควบคุม แต่ภารกิจนี้มีกำหนดระยะเวลาเพียงเดือนเดียว เพราะจะต้องกลับไปทำหน้าที่ต่อในภารกิจหลักคือ การสำรวจหาหลักฐานของสิ่งมีชีวิตโบราณบนดาวแดงที่แอ่งเยเซโร เส้นผ่านศูนย์กลาง 45 กิโลเมตร ซึ่งนักวิทยาศาสตร์คาดว่าเคยเป็นสามเหลี่ยม ปากแม่น้ำเมื่อหลายพันล้านปีก่อน

เพอร์เซเวียแรนซ์จะเก็บตัวอย่าง ตรวจวิเคราะห์เบื้องต้น และส่งตัวอย่างเหล่านี้กลับมายังโลก ภายใต้โครงการความร่วมมือระหว่างนาซ่ากับองค์การอวกาศยุโรป (อีเอสเอ) เพื่อให้นักวิทยาศาสตร์ตรวจสอบตัวอย่างเหล่านี้อย่างละเอียด คาดว่าน่าจะภายในต้นปี 2574

จันท์เกษม รุณภัย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน